เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 นายอรุณ บุญชม ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี เป็นผู้แทนจุฬาราชมนตรี พร้อมด้วย ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้อำนวยการสถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี เข้าร่วมประชุม เรื่อง “การสื่อสารเชื่อมโยงและการบูรณาการขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและการฟัตวาของโลกมุสลิม” ภายใต้สโลแกน “การสื่อสารและการบูรณาการทางศาสนา” (التواصل والتكامل) ณ นครมักกะฮ์ ระหว่างวันที่ 13 – 14 สิงหาคม 2566 ตามคำเชิญของกระทรวงกิจการศาสนาอิสลามและการเผยแผ่แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 150 คน จาก 85 ประเทศ ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนจุฬาราชมนตรี ได้รับเกียรติให้เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนาอิสลามและการเผยแผ่ ดร.อับดุลละฏีฟ อิบนิ อับดุลอะซีซ อาลิชเชค ในช่วงบ่ายของวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานรัฐมนตรีฯ โรงแรมฮิลตัน โดยรัฐมนตรีได้แสดงความปรารถนาดีต่อมุสลิมในประเทศไทย และให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้านการเผยแผ่ และพร้อมที่จะสนับสนุนในกิจการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมุสลิม การประชุมได้สิ้นสุดลงในวันที่ 14 สิงหาคม 2566 โดย ท่านปลัดกระทรวงกิจการศาสนาอิสลามฯ ดร.เอาวาด อิบนิซับฏี อัลอะนะซีย์ ได้อ่านแถลงการณ์
สำนักข่าวซาอุดีอาระเบีย (SPA) รายงานว่า การประชุมเรื่องการสื่อสารเชื่อมโยง และการบูรณาการขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและการฟัตวาของโลกมุสลิมครั้งนี้ ที่ประชุมได้แบ่งการประชุมเป็น 7 หัวข้อและมีข้อสรุปสำคัญ ดังนี้
1. การสื่อสาร ควรมีเป้าหมายเพื่อการรับใช้อิสลามและมุสลิม และส่งเสริมความสามัคคีของโลกอิสลาม
2. องค์กรศาสนาต้องมีการสื่อสารและมีการบูณาการระหว่างกัน
3. องค์กรศาสนา ควรส่งเสริมความมีใจกว้าง ยอมรับความแตกต่าง และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นของสมาชิกในสังคม
4. การให้ความสำคัญในการสอนตามเป้าหมายแห่งอัลกุรอานและซุนนะฮ์ของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างถึงแก่น
5. ควรส่งเสริมหลักความสายกลาง (วะสะฏียะฮ์) ตามโองการแห่งอัลกุรอานและซุนนะฮ์
6. ควรมีความเพียรพยายามร่วมกันในการต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่งและ
การก่อการร้าย
7. ควรร่วมกันปกป้องสังคมจากแนวคิดที่ไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า (Athesim) และความเสื่อมต่อการศรัทธาในพระเจ้า (Decadence)
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำความร่วมมือขององค์กรศาสนาในด้านการสื่อสาร และการมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อบรรลุจุดประสงค์สูงสุด (Ultimate Goal) คือความเป็นปึกแผ่นของโลกมุสลิม และเน้นย้ำการมีฟัตวาด้วยหลักชารีอะฮ์ที่สอดคล้องกัน การมีข้อสรุปด้วยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและป้องกันการออกฟัตวาที่ผิดปกติและแหวกแนว (Abnormal Fatwas) ( فتاوى شاذة )
ในที่สุด ที่ประชุมได้เสนอแนะให้มีการฝึกอบรมอิหม่ามและคอเต็บ เพื่อร่วมกันแก้ไขแนวคิดแบบสุดโต่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของอิสลามผิดเพี้ยน และการร่วมกันปกป้องศาสนาและสังคมจากกลุ่มที่สร้างความเกลียดชังต่ออิสลามและมุสลิมอีกด้วย