คุตบะฮ์วันศุกร์
เรื่อง ความประเสริฐของสิบวันแรกในเดือนซุลฮัจญะฮ์
อ.มูนีร (สมศักดิ์) มูหะหมัด
إِنَّ الْحَمْدَ لِلَّهِ ، نَحْمَدُهُ وَنَسْتَعِيْنُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ ، وَنَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ شُرُوْرِ أَنْفُسِناَ وَسَيِّئاَتِ أَعْمَالِنَا مَنْ يَهْدِهِ اللهُ فَلاَ مُضِلَّ لَهُ ، وَمَنْ يُضْلِلْ فَلاَ هَادِيَ لَهُ ، وَأَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لاَشَرِيْكَ لَهُ وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ ، اَللَّهُمَّ صَلِّ وَسَلِّمْ عَلَى سَيِّدِناَ مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَصَحْبِهِ ، وَمَنْ تَبِعَ سُنَّتَهُ وَاهْتَدَى بِهَدْيِهِ إِلَى يَوْمِ الدِّيْنِ .
أَمَّا بَعْدُ : فَياَ أَيُّهَا الناَّسُ : إِتَّقُوا اللهَ وَأَطِيْعُوْهُ وَقُوْلُوْا قَوْلاً سَدِيْدًا يُصْلِحْ لَكُمْ أَعْمَالَكُمْ وَيَغْفِرْلَكُمْ ذُنُوْبَكُمْ ، وَمَنْ يُطِعِ اللهَ وَرَسُوْلَهُ ، فَقَدْ فَازَ فَوْزًا عَظِيْمًا ، فَقَدْ قَالَ اللهُ تَعَالَى فِيْ كِتَابِهِ التَنْزِيْلِ : أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ ، وَالْعَصْرِ ، إِنَّ الإِنْسَانَ لَفِيْ خُسْرٍ ، إِلاَّ الَّذِيْنَ آمَنُوْا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ ، وَتَوَاصَوْا بِالْحَقِّ ، وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ . صَدَقَ اللهُ الْعَظِيْمُ
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย
ข้าพเจ้าขอย้ำเตือนท่านทั้งหลายรวมทั้งตัวของข้าพเจ้าให้มีความตั้กวา ยำเกรงพระองค์อัลลอฮ์ เพราะความตั้กวาคือ เสบียงที่ดีที่สุดสำหรับปวงบ่าวในวันกิยามะฮ์
พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประทานความประเสริฐให้กับสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง พระองค์ทรงสร้างมนุษย์จากดิน ถ้าเปรียบเทียบกับสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างอื่นๆ แล้ว มนุษย์เป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงสร้างโดยอยู่ในระดับต่ำสุด ดังที่อิบลิส ได้กล่าวไว้ เพราะพระองค์ทรงสร้างมะลาอิกะฮ์จากรัศมีทรงสร้างญินจากไฟ ทรงสร้างมนุษย์จากดิน อิบลิสได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์อัลลอฮ์ที่พระองค์ทรงบัญชาให้มันสุญูดต่อนบีอาดัม อลัยฮิสสลาม พระองค์ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า
قَالَ مَا مَنَعَكَ أَلَّا تَسْجُدَ إِذْ أَمَرْتُكَ قَالَ أَنَا خَيْرٌ مِّنْهُ خَلَقْتَنِي مِن نَّارٍ وَخَلَقْتَهُ مِن طينٍ
“พระองค์ตรัสว่า อะไรที่ขัดขวางเจ้า(อิบลิส) ไม่ให้เจ้าสุญูดต่ออาดัม มันกล่าวว่า ข้านั้นดีกว่าเขา พระองค์ได้ทรงสร้างข้าจากไฟและทรงสร้างเขา (อาดัม) จากดิน” ซูเราะฮ์อัลอะอ์ร้อฟ อายะฮ์ที่ ๑๒
ความประเสริฐของสิ่งต่างๆ ที่เกิดมามิได้วัดกันด้วยแหล่งกำเนิด หากแต่วัดกันด้วยความศรัทธาและความดีที่ได้สร้างสมไว้ พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสถึงความประเสริฐที่พระองค์ทรงประทานให้แก่มะลาอิกะฮ์และมนุษย์โดยการคัดสรรพวกเขาให้ทำหน้าที่เป็นทูตสื่อสารบัญญัติของพระองค์ว่า
اللَّهُ يَصْطَفِي مِنَ الْمَلَائِكَةِ رُسُلًا وَمِنَ النَّاسِ إِنَّ اللَّهَ سَمِيعٌ بَصِيرٌ
“อัลลอฮ์ทรงคัดเลือกจากบรรดามะลาอิกะฮ์ให้เป็นทูตและจากบรรดามนุษย์ แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น” ซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ อายะฮ์ที่ ๗๕
พระองค์ทรงตอบแทนบรรดาผู้ศรัทธาและทรงเทิดเกียรติเขาเหล่านั้น โดยประทานสวรรค์ให้เป็นสถานพำนักของพวกเขาในวันกิยามะฮ์ จากบรรดาผู้ศรัทธาพระองค์ทรงคัดสรรพวกเขาให้เป็นศาสนทูตทำหน้าที่สื่อสารบัญญัติของพระองค์ยังกลุ่มชนของพวกเขาเป็นการเฉพาะ และทรงคัดเลือกนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ให้ทำหน้าที่สื่อสารบัญญัติของพระองค์ยังสากลโลก โดยเป็นความเมตตาของพระองค์ ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า
وَمَآ أَرْسَلْنَٰكَ إِلَّا كَآفَّةً لِّلنَّاسِ بَشِيرًا وَنَذِيرًا وَلَٰكِنَّ أَكْثَرَ ٱلنَّاسِ لَا يَعْلَمُونَ
“และเรา (อัลลอฮ์) มิได้ส่งเจ้ามา นอกจากยังมนุษย์ทั้งมวล โดยเป็นการบอกข่าวดีและการตักเตือน แต่ทว่า มนุษย์ส่วนมากไม่รู้” ซูเราะฮ์สะบะ อายะฮ์ที่ ๒๘
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย
พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสร้างโลกนี้ โดยให้ส่วนต่างๆ ของแผ่นดินใช้เป็นสถานที่สุญูดต่อพระองค์ พระองค์ทรงบัญชาให้สร้างมัสยิด และทรงประทานให้บางมัสยิดมีความประเสริฐในการปฏิบัติความดีเหนือกว่ามัสยิดอื่นๆ นั่นคือ มัสยิดหะรอม ณ นครมักกะฮ์ มัสยิดนบี ณ นครมะดีนะฮ์ และมัสยิดอักซอ ณ บัยตุลมักดิส หรือกรุงเยรุซาเล็ม พร้อมกับส่งเสริมให้เดินทางไปปฏิบัติอิบาดะฮ์ในมัสยิดทั้งสามแห่งนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
لَا تُشَدُّ الرِّحَالُ إِلَّا إلى ثَلَاثَةِ مَسَاجِدَ: مَسْجِدِي هذا، وَمَسْجِدِ الحَرَامِ، وَمَسْجِدِ الأقْصَى
“ไม่มีการส่งเสริมให้เดินทางไป(เพื่อปฏิบัติอิบาดะฮ์) นอกจาก ๓ มัสยิด คือ มัสยิดของฉันนี้ มัสยิดหะรอม และมัสยิดอักซอ” บันทึกโดย มุสลิม จากอบี ฮุรอยเราะฮ์
สาเหตุที่ส่งเสริมให้เดินทางไปปฏิบัติอิบาดะฮ์ในมัสยิดทั้งสามแห่งนี้ เนื่องจากผู้ปฏิบัติจะได้รับ ผลานิสงค์อย่างมหาศาล การละหมาด ณ มัสยิดหะรอมจะได้รับภาคผล ๑๐๐,๐๐๐ เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการละหมาด ณ มัสยิดอื่นๆ การละหมาด ณ มัสยิดนบีจะได้รับภาคผล ๑,๐๐๐ เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการละหมาด ณ มัสยิดอื่นๆ และการละหมาด ณ มัสยิดอักซอจะได้รับภาคผล ๕๐๐ เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการละหมาด ณ มัสยิดอื่นๆ
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย
พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประทานความประเสริฐในกาลเวลาตามที่พระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ทรงประทานวันญุมอะฮ์ให้มีความประเสริฐกว่าวันอื่นๆ ในรอบสัปดาห์ ทรงประทานให้เดือนรอมฎอนมีความประเสริฐเหนือกว่าเดือนอื่น ๆ และทรงกำหนดให้ ๑๐ วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ซึ่งประกอบด้วยวันอะร่อฟะฮ์ วันอีดอัฎฮา มีความประเสริฐ พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสไว้ใน ซูเราะฮ์อัลฟัจร์ ว่า
وَالْفَجْرِ ، وَلَيَالٍ عَشْرٍ
“ขอสาบานด้วยเวลารุ่งอรุณ และค่ำคืนทั้งสิบ” อายะฮ์ที่ ๑ – ๒
นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันใน ๑๐ คืน บ้างว่า ๑๐ คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ดังมีรายงานจากอิบนิอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ บ้างว่า ๑๐ คืนแรกของเดือนมุฮัรรอม บ้างว่า ๑๐ คืนแรกของเดือน ซุลฮิจญะฮ์ซึ่งเป็นทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุด ดังที่อัลกุฏุบีย์รายงานจากญาบิร อิบนิอับดิลลาฮ์ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัม ระบุเช่นนั้น
ยิ่งกว่านั้น นักวิชาการมีความเห็นตรงกันว่า สิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์มีความประเสริฐมากกว่าวันอื่นๆ เพราะมีตัวบทบ่งชี้ไว้ แต่ที่มีความเห็นแตกต่างกันคือ ความประเสริฐของ ๑๐ คืน ท่านอิบนุลกอยยิม ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า สิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนมีความประเสริฐมากกว่า เพราะมีคืนอัลก้อดร์หรือลัยละตุลก้อดร์อยู่ในนั้น ส่วน ๑๐ วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์มีความประเสริฐมากกว่าวันอื่นๆ เพราะมีวันสำคัญต่างๆ อยู่ในนั้น ได้แก่ วันตัรวียะฮ์คือ วันที่ ๘ ซุลฮิจญะฮ์ วันอะร่อฟะฮ์ คือ วันที่ ๙ ซุลฮิจญะฮ์ และวันอันนะหร์หรือวันอีดุลอัฎฮาคือ วันที่ ๑๐ ซุลฮิจญะฮ์
นี่เป็นช่วงเวลาที่พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงประทานความประเสริฐมาให้ใน ๑๐ วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์เหนือกว่าวันอื่น ๆ เพราะว่า เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสาบานด้วยกับสิ่งใด เป็นการแสดงถึงความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของสิ่งนั้น ซึ่งท่านอิบนุอับบาส ท่านอัซซุเบร ท่านมุญาฮิด ชาวสลัฟและชาวค่อลัฟ มีความเห็นว่า ใน ๒ อายะฮ์ซึ่งกล่าวถึง ๑๐ คืน แต่ก็มีความหมายถึง ๑๐ วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์ด้วย ซึ่งท่านอิบนุกะซีร นักอธิบายอัลกุรอานคนสำคัญท่านหนึ่งกล่าวว่า นี่เป็นความเห็นที่ถูกต้อง
พระองค์อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัล กุรอานว่า
لِيَشْهَدُوا مَنَافِعَ لَهُمْ وَيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّهِ فِي أَيَّامٍ مَعْلُومَاتٍ عَلَى مَا رَزَقَهُمْ مِنْ بَهِيْمَةِ الْأَنْعَامِ فَكُلُوا مِنْهَا وَأَطْعِمُوا الْبَائِسَ الْفَقِيرَ
“เพื่อพวกเขาจะได้พินิจดูประโยชน์ของพวกเขา และเพื่อพวกเขาจะได้รำลึกถึงพระนามของอัลลอฮ์ในบรรดาวันที่ทราบกัน ตามที่พระองค์ได้ทรงประทานริซกีให้แก่พวกเขาจากบรรดาปศุสัตว์ ดังนั้น สูเจ้าทั้งหลายจงรับประทานส่วนหนึ่งจากมัน และจงให้เป็นอาหารแก่ผู้ยากจนขัดสน” ซูราะฮ์อัลฮัจญ์ อายะฮ์ที่ ๒๘
ท่านอิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ถ้อยคำของอายะฮ์ที่ว่า “บรรดาวันที่ทราบกัน” หมายถึงสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย
นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัม กล่าวว่า สิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์มีความประเสริฐกว่าวันอื่นๆ และการงานที่ดีซึ่งปฏิบัติในวันดังกล่าวมีภาคผลที่ยิ่งใหญ่มหาศาล ซึ่งอิหม่ามอัลบุคอรีย์ และอัตติรมิซีย์ได้บันทึกหะดีษจากอิบนิอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า
“ไม่มีวันใดๆ การงานที่ดีซึ่งปฏิบัติในวันดังกล่าวจะเป็นที่รัก ณ อัลลอฮ์ ยิ่งกว่าการงานที่ดีซึ่งปฏิบัติในสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์” บรรดาศ่อฮาบะฮ์กล่าวว่า “แม้แต่การญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ กระนั้นหรือ โอ้ ท่านร่อซูลัลลอฮ์ ?”ท่านร่อซูลกล่าวว่า “แม้แต่การญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ นอกจากบุคคลที่ออกไปทำการญิฮาดพร้อมด้วยทรัพย์สินและตัวของเขา แล้วเขามิได้กลับมาจากการญิฮาดโดยมีสิ่งใดติดตัวมาด้วย”
ท่านอิบนุหะญัร ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า สิ่งปรากฏที่เป็นสาเหตุทำให้สิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์มีความประเสริฐก็เนื่องจากบรรดาอิบาดะฮ์ประการสำคัญได้มีการปฏิบัติในวันเหล่านี้ ได้แก่ การละหมาด การถือศีลอด การทำศ่อดะเกาะฮ์ การประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งไม่ปรากฏว่า มีการปฏิบัติความดีร่วมกันเช่นนี้ในวันอื่นๆ
สำหรับการงานที่ดีซึ่งปฏิบัติใน ๑๐ วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์นั้น มีมากมาย กล่าวคือ
๑ – การประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นอิบาดะฮ์ประการสำคัญที่สุดซึ่งปฏิบัติใน ๑๐ วันนี้ เพราะพระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสใช้ไว้ว่า
وَلِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حِجُّ الْبَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلًا وَمَنْ كَفَرَ فَإِنَّ اللَّهَ غَنِيٌّ عَنِ الْعَالَمِينَ
“และสำหรับอัลลอฮ์ (ได้ทรงบัญญัติ) แก่บรรดามนุษย์ถึงการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮ์ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้ และผู้ใดที่ปฏิเสธ แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงพึ่งพิงสากลโลก”
ซูเราะฮ์อาล อิมรอน อายะฮ์ที่ ๙๗
๒ – การถือศีลอดมีซุนนะฮ์ให้ถือศีลอดใน ๙ วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์ เฉพาะอย่างยิ่งในวันอะร่อฟะฮ์ อิหม่ามมุสลิมได้บันทึกจากอบีก่อตาดะฮ์กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัม กล่าวว่า
صِيَامُ يَومِ عَرَفَةَ أَحتَسِبُ عَلَى اللهِ أَن يُكَفِّرَ السَّنَةَ الَّتِي قَبلَهُ وَالسَّنَةَ الَّتِي بَعدَهُ، وَصِيَامُ يَومِ عَاشُورَاءَ أَحتَسِبُ عَلَى اللَّهِ أَن يُكَفِّرَ السَّنَةَ الَّتِي قَبلَهُ
“การถือศีลอดในวันอะร่อฟะฮ์ ฉันหวังว่า พระองค์อัลลอฮ์จะทรงลบล้างความผิดในปีก่อนหน้านั้นและปีที่ถัดไป และการถือศีลอดในวันอาชูรออ์ ฉันหวังว่า พระองค์อัลลอฮ์จะทรงลบล้างความผิดในปีก่อนหน้านั้น”
๓ – ทำศ่อดะเกาะฮ์ แม้ว่าจะมีกล่าวโดยทั่วไปว่า “การทำศ่อดะเกาะฮ์ไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ แต่การทำศ่อดะเกาะฮ์ในช่วงของ ๑๐ วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความประเสริฐ ภาคผลของการทำศ่อดะเกาะฮ์ย่อมจะเพิ่มพูนอย่างแน่นอน” ท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัม กล่าวว่า
ما نَقَصَتْ صَدَقةٌ مِن مَالٍ، ومَا زَادَ اللَّهُ عَبْدًا بعَفْوٍ إلَّا عِزًّا، وما تَواضَعَ أحَدٌ للَّهِ إلَّا رَفَعَهُ اللَّهُ
“การทำศ่อดะเกาะฮ์มิได้ทำให้ทรัพย์สินบกพร่องไป พระองค์อัลลอฮ์จะไม่เพิ่มพูนสิ่งใดให้แก่บ่าวที่ให้อภัย นอกจากจะเพิ่มเกียรติยศ และไม่มีผู้ใดอ่อนน้อมเพื่ออัลลอฮ์ นอกจากอัลลอฮ์จะทรงยกฐานะให้แก่เขา” บันทึกโดย มุสลิม
๔ – การทำอุมเราะฮ์ นักวิชาการกล่าวว่า “บรรดามุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และทำอุมเราะฮ์ควบคู่กับการประกอบพิธีฮัจญ์ถือเป็นการปฏิบัติอิบาดะฮ์ที่ดียิ่ง เพราะอยู่ในช่วงเวลาที่มีความประเสริฐ”
๕ – การซิกรุลลอฮ์ คือ การกล่าวคำตัสเบียห์คือ ซุบฮานัลลอฮ์ ตะห์มีดคือ อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ตะฮ์ลีลคือ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ ตั้กบีรคือ อัลลอฮุอักบัร สมควรกล่าวให้มาก อิหม่ามอะหมัด ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือสุนันของท่านจากอิบนิ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัม กล่าวว่า
“ไม่มีวันที่ยิ่งใหญ่ ณ อัลลอฮ์ และไม่มีการงานใดซึ่งเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ในวันดังกล่าวที่จะมากไปกว่าการงานที่ทำในสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงกล่าวตะฮ์ลีล ตะห์มีด และตั้กบีรให้มากในวันเหล่านั้นเถิด” หะดีษศ่อเฮียะห์
๖ – การกล่าวขอดุอาอ์ในบรรดาวันดังกล่าว เฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่ประกอบพิธีฮัจญ์ ขณะอยู่ ณ ทุ่ง อะร่อฟะฮ์ จากอับดุลลอฮ์ อิบนิอัมร์ อิบนิลอาศ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “การขอดุอาอ์ที่ดีที่สุดคือ การขอดุอาอ์ในวันอะร่อฟะฮ์ และสิ่งที่ดีที่สุดที่ฉันและบรรดานบีก่อนหน้าฉัน” กล่าวคือ
لَا إِلَهَ إِلَّا اللهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ، لَهُ الْمُلْكُ وَلَهُ الْحَمْدُ، وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ
“ไม่มีพระเจ้าใดนอกจากพระองค์อัลลอฮ์ผู้ทรงเอกะ โดยไม่มีสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์ อำนาจและการสรรเสริญเป็นของพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง”
นี่คือ ส่วนหนึ่งจากความประเสริฐของ ๑๐ วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์ และความเมตตาของพระองค์อัลลอฮ์ที่ทรงประทานให้แก่มวลมุสลิมและบรรดาพี่น้องฮุจญ้าจในการปฏิบัติความดีในช่วงเวลานี้ ซึ่งพระองค์จะทรงเพิ่มพูนการตอบแทนผลานิสงค์ให้แก่พวกเขาอย่างมากมาย
أَقُوْلُ قَوْلِي هَذَا وَاسْتَغْفِرُ اللهَ الْعَظِيْمَ لِي وَلَكُمْ ، وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتَ مِنْ كُلِّ ذَنْبٍ ، وَاسْتَغْفِرُوْهُ اِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ .
คุตบะห์ที่ 2
اَلْحَمْدُ ِللهِ حَمْدًا كَثِيْرًا كَمَا أَمَرَ ، أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لاَ شَرِيْكَ لَهُ ، وَأَشْهَدُ أَنَّ نَبِيَّناَ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ ، سَيِّدُ الْجِنِّ وَالْبَشَرِ ، اَللَّهُمَّ صَلِّ وَسَلِّمْ وَبَارِكْ عَلَى هَذَا النَّبِيِّ الْكَرِيْمِ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَأَصْحَابِهِ الْمَصَابِيْحِ الْغُرَرِ .
أَمَّا بَعْدُ فَيَا اَيُّهَا الْمُؤْمِنُوْنَ ، اُوْصِيْكُمْ وَإِيَّايَ بِتَقْوَى اللهِ وَطَاعَتِهِ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُوْنَ ، أَلاَ وَصَلُّوْا عَلَى نَبِيِّكُمْ يَاحَاضِرِيْنَ وَسَلِّمُوْا تَسْلِيْمًا ، إِنَّ اللهَ وَمَلاَئِكَتَهُ يُصَلُّوْنَ عَلَى النَّبِيِّ يَااَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوْا صَلُّوْا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوْا تَسْلِيْمًا ،
اَللَّهُمَّ صَلِّ وَسَلِّمْ وَبَارِكْ عَلَى عَبْدِكَ وَرَسُوْلِكَ مُحَمَّدٍ ، وَارْضَ اللَّهُمَّ عَنِ الأَرْبّعَةِ الْخُلَفَاءِ الرَّاشِدِيْنَ ، وَعَنْ آلِهِ وَأَصْحَابِهِ أَجْمَعِيْنَ ، وَعَنِ التَابِعِيْنَ وَتَابِعِيْهِمْ بِإِحْسَانٍ إِلَى يَوْمِ الدِّيْنِ ، وَعَنَّا مَعَهُمْ بِعَفْوِكَ وَإِحْسَانِكَ يَا أَرْحَمَ الرَّاحِمِيْنَ ،
اَللَّهُمَّ أَعِزَّ الْإِسْلاَمَ وَالْمُسْلِمِيْنَ وَأَذِلَّ الشِّرْكَ وَالْمُشْرِكِيْنَ وَدَمِّرْ أَعَدَاءَ الدِّيْنِ ، وَاجْعَلْ هَذَا الْبَلَدَ آمِناً مُطْمَئِنًّا وَسَائِرَ بِلاَدِ الْمُسْلِمِينَ يَارَبَّ الْعَالَمِيْن ،
اَللَّهُمَّ اغْفِرْ لِلْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتِ الْأَحْياَءِ مِنْهُمْ وَالْأَمْوَاتِ ، اَللَّهُمَّ عَافِنَا مِنْ كُلِّ بَلاَءِ الدُّنْياَ وَعَذَابِ الْآخِرَةِ يَا أَرْحَمَ الرَّاحِمِيْنَ ، رَبَّناَ آتِنَا فِي الدُّنْياَ حَسَنَةً وَ فِي الْآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِناَ عَذَابَ الناَّرِ ،
عِبَادَ اللهِ ، إِنَّ اللهَ يَأْمُرُكُمْ بِالْعَدْلِ وَالْإِحْسَانِ وَإِيْتاَءِ ذِيْ اْلقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَالْبَغْيِ ، يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرَوُنَ ، فَاذْكُرُوا اللهَ اْلعَظِيْمَ يَذْكُرْكُمْ ، وَاشْكُرُوهُ عَلَى نِعَمِهِ يَزِدْكُمْ ، وَلَذِكْرُاللهِ أَكْبَرُ، وَاللهُ يَعْلَمُ مَا تَصْنَعُوْنَ ، قُوْمُوْا إِلَى الصَّلاَةِ يَرْحَمْكُمُ اللهُ .