คุฎบะฮ์วันศุกร์
เรื่อง การอดทนต่อการทดสอบของอัลลอฮ์
อาจารย์อาลี กองเป็ง
إِنَّ الْحَمْدَ لِلَّهِ نَحْمَدُهُ وَنَسْتَعِيْنُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ وَنَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ شُرُوْرِ أَنْفُسِنَا وَسَيِّئَاتِ أَعْمَالِنَا، مَنْ يَهْدِهِ اللهُ فَلَا مُضِلَّ لَهُ ، وَمَنْ يُضْلِلْهُ فَلَا هَادِيَ لَهُ، أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلَّا اللهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيْكَ لَهُ ، إِلَهُ الأَوَّلِيْنَ وَالآخِرِيْنَ ، وَأَشْهَدُ أَنَّ نَبِيَّناَ مُحَمَّداً عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ ، أَرْسَلَهُ رَحْمَةً لِلْعَالَمِيْنَ فَدَعَا النَّاسَ إِلَى صِرَاطِ اللهِ الْمُسْتَقِيْمِ ، اَللَّهُمَّ صَلِّ عَلى عَبْدِكَ وَرَسُوْلِكَ مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَأَصْحَابِهِ وَسَلِّمْ تَسْلِيْمًا كَثِيْرًا
أَمَّا بَعْدُ فَيَاأَيُّهَا النَّاسُ اِتَّقُوْا اللهَ فِيْمَا أَمَرَ، وَانْتَهُوْا عَمَّا نَهَا عَنْهُ وَحَذَّرَ، أُوْصِيْكُمْ وَإِيَّايَ بِتَقْوَى اللهَ فَقَدْ فَازَ الْمُتَّقُوْن فَقال الله تعالى ﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ اتَّقُواْ اللّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلاَ تَمُوتُنَّ إِلاَّ وَأَنتُم مُّسْلِمُون فَقَال الله تعالى أَيْضًأ :
(وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ الَّذِينَ إِذَا أَصَابَتْهُمْ مُصِيبَةٌ قَالُوا إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ. أُولَئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِنْ رَبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ)
ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาทั้งหลาย
บ่าวของอัลลอฮ์ทุกคน ต้องยอมรับและต้องเข้าใจว่า การดำรงชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ มีทั้งสุขและทุกข์คละเคล้ากันไป บ่าวที่มีความศรัทธาอันแรงกล้า เมื่อได้รับความผาสุก จะขอบคุณ (ชุโกร) ต่ออัลลอฮ์ และเคารพภักดีต่อพระองค์มากขึ้น เพราะทราบดีว่า จะมีความผาสุกไม่ได้ หากอัลลอฮ์ไม่ทรงประทานให้ และเมื่อเขาได้รับบททดสอบ (บะลอ) ด้วยศรัทธา (อีหม่าน) อันเข้มแข็ง ก็จะทำให้มีความอดทน (ซอบัร) ในบททดสอบนั้น ๆ
“บททดสอบ” หรือที่เรียกว่า “บะลอ” บางคนประสบทางด้านสุขภาพ ลูกหลาน ความตายหรืออื่น ๆ ตามที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์ ซึ่งอัลลอฮ์ตรัสว่า
(وَلَنَبْلُوَنَّكُم بِشَيْءٍ مِّنَ الْخَوْفِ وَالْجُوعِ وَنَقْصٍ مِّنَ الْأَمْوَالِ وَالْأَنفُسِ وَالثَّمَرَاتِ وَبَشِّرِالصَّابرِيْنَ) البقرة/ 155
ความว่า “และแน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากความกลัว ความหิว และด้วยความสูญเสีย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด”
บททดสอบ (บะลอ) สำหรับผู้มีศรัทธาทั้งหลาย โดยสัญชาติญาณของมนุษย์ ไม่อยากที่จะรับแบกบททดสอบนี้ คนบางกลุ่มมองดุนยานี้ว่า มันหดหู่หรือคับแคบบีบคั้นเหลือเกิน ในขณะที่ประสบกับบททดสอบ บุคคลเหล่านี้จะไม่พอใจ โมโหโกรธา ตีโพยตีพาย เพราะเหตุที่ไม่น้อมรับและไม่พอใจในกำหนดและลิขิตของอัลลอฮ์ แล้วจะเห็นว่าบุคคลเหล่านี้จะแสดงออกด้วยอาการที่ไม่สมควรยิ่ง ซึ่งอาการเหล่านี้ จะไม่ได้รับผลดี ยิ่งกว่านั้น อัลลอฮ์ก็จะทรงเพิ่มความเจ็บปวด โมโหโกรธา ความทุกข์ที่หนักหน่วงขึ้นไปมากกว่าเก่า และจะได้รับบาปเป็นทวีคูณ
ส่วนผู้มีความศรัทธามั่น ที่เป็นวิญญูชนเห็นว่า บททดสอบ (บะลอ) คือ ห่วงเวลาแห่งการเสริมสร้างความศรัทธา (อีหม่าน) บุคคลเหล่านี้จะอดทน หวังการตอบแทนที่ดีจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง จะไม่ตีโพย ตีพาย ไม่ตำหนิติติง จะยินดี (ริฎอ) ในการทดสอบจากอัลลอฮ์ และมั่นใจว่า การอดทน (ซอบัร) จะนำมาซึ่งความรักความเมตตาจากอัลลอฮ์ ซึ่งอัลลอฮ์ตรัสว่า
(وَاللهُ يُحِبُّ الصَّابِرِين) آل عمران 146/
ความว่า “และอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้ที่อดทน (ซอบัร)”
พี่น้องร่วมศรัทธาทั้งหลาย
ผู้ที่เป็นมุอ์มิน จะคิดเสมอว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นสิ่งที่ดี คราใดที่ได้พบกับความสุข ความ เบิกบาน ก็จะขอบคุณ (ชุโกร) ต่ออัลลอฮ์ และคราใดที่ได้รับการทดสอบจากอัลลอฮ์ เขาก็จะอดทน (ซอบัร) การขอบคุณ (ชุโกร) และอดทน (ซอบัร) ทั้งสองนี้คือความดีงาม
พี่น้องทุกท่านทราบหรือไม่ว่า ทำไมจำต้องอดทนต่อบททดสอบต่าง ๆ เนื่องจากอัลลอฮ์ตรัสว่า
(وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ الَّذِينَ إِذَا أَصَابَتْهُمْ مُصِيبَةٌ قَالُوا إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ. أُولَئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِنْ رَبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ) البقرة./157
ความว่า “และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด คือบรรดาผู้ที่เมื่อมีความทุกข์ภัยมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُوْنَ แท้จริง พวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และพวกเราต้องกลับไปยังพระองค์ ชนเหล่านี้จะได้รับคำชมเชย (ภาคผลการตอบแทน) ความเอ็นดูเมตตา (เราะฮ์มัต) จากพระผู้อภิบาล และชนเหล่านี้คือผู้ได้รับข้อแนะนำอันถูกต้อง (ฮิดายะฮ์)” อัลบะเกาะเราฮ์/157
การกลับคืนสู่อัลลอฮ์มีสองประเภท
- กลับคืนสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์
- กลับคืนสู่ความโกรธกริ้วของพระองค์
ความอดทนและหวังสิ่งตอบแทนจากพระองค์ เมื่อถึงเวลากลับคืนสู่อัลลอฮ์ ก็จะได้กลับคืนสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์
ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาทั้งหลาย
ผลตอบแทนที่ได้รับจากความอดทน (ซอบัร) มิใช่เพียงแต่ได้รับบททดสอบ (บะลอ) ที่หนักหน่วงเท่านั้น แม้เพียงได้รับบททดสอบ (บะลอ) เพียงเล็กน้อย เช่น หนามทิ่มตำเท้า ปวดหัวตัวร้อนเล็กน้อย อัลลอฮ์ก็ทรงทดแทนให้ หากเขาอดทน (ซอบัร) และหวังความเมตตาจากพระองค์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุฯ กล่าวว่า
(ما يُصِيْبُ الْمُسْلِمَ، مِن نَصَبٍ ولَا وصَبٍ، ولَا هَمٍّ ولَا حُزْنٍ ولَا أَذًى ولَا غَمٍّ، حتَّى الشَّوْكَةِ يُشَاكُهَا، إلَّا كَفَّرَ اللَّهُ بهَا مِنْ خَطَايَاهُ) متفق عليه
ความว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ได้มาประสบกับมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บป่วย ความทุกข์ระทม ความเศร้าหมอง ความเดือดร้อน ความหม่นหมอง แม้กระทั้งเพียงแค่หนามมันตำนอกจากอัลลอฮ์ทรงปลดเปลื้องบาปต่าง ๆ ที่มีอยู่”
จงได้ทราบเถิดว่า ไม่มีใครที่จะรอดพ้นจากบททดสอบ (บะลอ) ไปได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบรรดานบี บรรดาร่อซู้ล เหล่าศ่อฮาบะฮ์ คนดีทั้งหลาย หรือบุคคลใดก็ตาม
ดังนั้น ขอให้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงมีศรัทธา (อีหม่าน) ที่เข้มแข็ง และมีความอดทน (ซอบัร) อยู่เสมอ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุฯ กล่าวไว้มีความว่า
“ไม่มีความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) ใด ที่ดียิ่งไปกว่าบ่าวคนหนึ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้บ่าวผู้นั้นถึงแก่นแท้ของความอดทน (ซอบัร)”
أَقُوْلُ قَوْلِي هَذَا وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ الْعَظِيْمَ لِي وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمِيْنَ مِنْ كُلِّ ذَنْبٍ ، فَاسْتَغْفِرُوْهُ وَتُوْبُوْا إِلَيْهِ، إِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ