วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2568 10:41 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> คุตบะห์ >> อัลอะมานะฮ์
อัลอะมานะฮ์

อัลอะมานะฮ์

คุฎบะฮ์วันศุกร์
เรื่อง อัลอะมานะฮ์

อ.มูนีร (สมศักดิ์) มูหะหมัด

إِنَّ الْحَمْدَ للهِ نَحْمَدُهُ وَنَسْتَعِيْنُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ وَنَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ شُرُوْرِ أَنْفُسِنَا وَسَيّئَاتِ أَعْمَالِنَا مَنْ يَهْدِهِ اللهُ فَلاَ مُضِلَّ لَهُ ، وَمَنْ يُضْلِلْهُ فَلاَ هَادِيَ لَهُ، اَلْحَمْدُ ِللهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ القَائِلِ : (قُلْ اِنَّ الْمَوْتَ الَّذِيْ تَفِرُّوْنَ مِنْهُ فَاِنَّهٗ مُلٰقِيْكُمْ ثُمَّ تُرَدُّوْنَ اِلٰى عَالِمِ الْغَيْبِ وَالشَّهَادَةِ فَيُنَبِّئُكُمْ بِمَا كُنْتُمْ تَعْمَلُوْنَ) أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلهَ إِلاّ اللهُ وَأَشْهَدُ أَنّ مُحَمّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ ،

صَلَّى اللهُ عَلَى أَشْرَفِ الأَنْبِيَاءِ وَالْمُرْسَلِيْنَ نَبِيِّنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَأَصْحَابِهِ وَمَنْ سَارَ عَلَى نَهْجِهِ القَوِيْمِ ، وَدَعَا إِلَى الصِّرَاطِ الْمُسْتَقِيْمِ إِلَى يَوْمِ الدِّيْنِ وَسَلَّمَ تَسْلِيْمًا كَثِيْرًا

أَمَّا بَعْدُ ، فَيَا عِبَادَ اللهِ أُوْصِيْكُمْ وَإِيَّايَ بِتَقْوَى اللهِ فَقَدْ فَازَ الْمُتَّقُوْنَ

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

ข้าพเจ้าขอเตือนตัวของข้าพเจ้าเองและท่านทั้งหลายให้มีความตั้กวายำเกรงต่ออัลลอฮ์  เพราะเสบียงที่ดีที่สุดสำหรับเราที่จะเตรียมไปสู่โลกอาคีเราะฮ์คือ ความตั้กวา  สิ่งที่เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบรรดามนุษย์คือ อัลอะมานะฮ์   อัลอะมานะฮ์เป็นคำที่มีความหมายหลายนัย  ความหมายที่สำคัญของอัลอะมานะฮ์คือ ความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ  พระองค์อัลลอฮ์ ซุบห์ฯ ได้ตรัสถึงอัลอะมานะฮ์ที่หมายถึงความรับผิดชอบไว้ในคัมภีร์อัล กุรอานในหลายอายะฮ์  เช่นในซูเราะฮ์อัล อะห์ซาบ  อายะฮ์ที่ ๗ ว่า

إِنَّا عَرَضْنَا ٱلْأَمَانَةَ عَلَى ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلْأَرْضِ وَٱلْجِبَالِ فَأَبَيْنَ أَن يَحْمِلْنَهَا وَأَشْفَقْنَ مِنْهَا وَحَمَلَهَا ٱلْإِنسَٰنُ ۖ إِنَّهُۥ كَانَ ظَلُومًا جَهُولًا

ความว่า แท้จริง เรา (อัลอฮ์ )ได้เสนออัลอะมานะฮ์ไปยังฟ้าทั้งหลาย แผ่นดินและบรรดาขุนเขา มันเหล่านั้นได้ปฏิเสธที่จะแบกรับมันและหวั่นเกรง แต่มนุษย์ได้แบกรับมันไว้ แท้จริง เขาเป็นผู้อธรรมผู้โง่เขลา”

อายะฮ์นี้แจ้งให้รู้ว่า อัลมะนะฮ์หรือความรับผิดชอบมีความยิ่งใหญ่มาก แม้กระทั่งฟากฟ้า แผ่นดิน  และขุนเขายังไม่สามารถแบกรับมันได้ แต่มนุษย์ได้ขันอาสาในการแบกรับ แม้ว่ามันจะเป็นภาระหนักในตอนสุดท้าย พระองค์อัลลอฮ์ได้ตรัสถึงมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนว่า มีลักษณะเป็นผู้อธรรม และมีความโฉดเขลา ดังนั้น ในเมื่อมนุษย์รับอัลอะมานะฮ์มาแล้ว ก็จำเป็นจะต้องรักษาไว้ให้ครบถ้วน อย่าให้เกิดความบกพร่อง

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

อัลอะมานะฮ์ สำคัญที่มนุษย์จะต้องรักษาคือ อัลอะมานะฮ์ในหลักศาสนาซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีความอีมานหรือความศรัทธา  เฉพาะอย่างยิ่งการศรัทธาว่า พระองค์อัลลอฮ์ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริง  ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์องค์เดียว  จะต้องเป็นความศรัทธาอย่างแน่นแฟ้น  โดยจะต้องศรัทธาว่า พระองค์คือ ผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงบังเกิด  ผู้ทรงดูแลทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง  พระองค์ทรงประทานริซกี  พระองค์ทรงกรรมสิทธิ์ให้มีชีวิตและทรงกรรมสิทธิ์ในการให้สิ้นชีวิต  และพระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง  พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของทุกสิ่ง  และทุกสิ่งคือบ่าวของพระองค์

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

บรรดานักวิชาการได้แบ่งการอีมานศรัทธาระดับยะกีนหรือความตระหนักอย่างแน่นแฟ้นออกเป็น ๓ ระดับคือ

  1. อิลมุลยะกีน หมายถึง การรู้ทางการศรัทธาอย่างแท้จริงถึงการมีของพระองค์อัลลอฮ์ ซึ่งได้มาด้วยการศึกษาอันจะทำให้บุคคลรู้ถึงการมีของพระองค์ รู้ถึงบัญญัติที่พระองค์กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งใช้หรือคำสั่งห้าม ตามที่พระองค์ทรงบัญชาให้บรรดานบีและร่อซูลนำมาประกาศเผยแพร่  เขาจะน้อมรับด้วยความจริงใจ ปราศจากการปฏิเสธหรือการคัดค้านใดๆ
  2. อัยนุลยะกีน หมายถึง การสะท้อนจากความรู้ที่ทำให้เกิดการศรัทธาไปสู่การแสดงออกให้ประจักษ์ด้วยสายตาและการปฏิบัติโดยอยู่ในกรอบบัญญัติที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกำหนดไว้ จาการปฏิบัติทำให้บุคคลได้รับการตอบแทน ความดีและการถูกลงโทษในการฝ่าฝืน
  3. ฮักกุลยะกีน หมายถึง ความตระหนักมั่นอย่างแน่นแฟ้นถึงการมีอยู่ของพระองค์อัลลอฮ์ ซุบห์ฯ โดยปราศจากความสงสัยคลางแคลงใจใดๆ ทำให้เขาได้ลิ้มรสที่หวานชื่นของการศรัทธา  ท่านอัล อับบาส อิบนิ อับดิลมุฏฏ่อลิบ รฎิฯ ว่า ท่านร่อซูล ศ็อลฯ  กล่าวว่า

ذَاقَ طَعْمَ الْإيْمَانِ مَنْ رَضِيَ باللَّهِ رَبًّا، وَبِالْإسْلَامِ دِيْنًا، وبِمُحَمَّدٍ رَسُوْلًا

ความว่า ผู้ที่พอใจในอัลลอฮ์ว่า เป็นพระเจ้า อิสลามเป็นศาสนาและมุฮัมมัดเป็นร่อซูล  เขาได้ลิ้มรสการศรัทธาแล้ว”  บันทึโดย มุสลิม

เกี่ยวกับระดับยะกีนของการศรัทธา พระองค์อัลลอฮ์ ซุบห์ฯ ทรงหยิบยกโดยเปรียบเทียบกับเรื่องราวของ นบี อิบรฮีม อลัยฮ์ฯ มาเสนอว่า

وَإِذْ قَالَ إِبْرَاهِيمُ رَبِّ أَرِنِي كَيْفَ تُحْيِ الْمَوْتَى ، قَالَ أَوَلَمْ تُؤْمِنْ ، قَالَ بَلَى وَلَكِنْ لِيَطْمَئِنَّ قَلْبِي ، قَالَ فَخُذْ أَرْبَعَةً مِنَ الطَّيْرِ فَصُرْهُنَّ إِلَيْكَ ،  ثُمَّ اجْعَلْ عَلَى كُلِّ جَبَلٍ مِنْهُنَّ جُزْءًا ، ثُمَّ ادْعُهُنَّ يَأْتِينَكَ سَعْيًا وَاعْلَمْ أَنَّ اللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٌ .

ความว่า และพึงรำลีก ครั้นเมื่ออิบรอฮีมกล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของฉัน ได้โปรดแสดงให้ฉันเห็นว่า พระองค์จะทรงทำให้คนตายทั้งหลายฟื้นชีพได้อย่างไร ?  พระองค์ตรัสว่า เจ้าไม่ศรัทธาดอกหรือ? นบีอิบรอฮีมกล่าวว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่  แต่เพื่อทำให้หัวใจของฉันมีความมั่นคง  พระองค์ตรัสว่า ดังนั้น เจ้าจงนำนกมา 4 ตัวและรวมกันแล้วเชือดพร้อมกับสับปนกัน แล้วจงแบ่งส่วนไปไว้ทุกภูเขา แล้วจงเรียกมันเหล่านั้น พวกมันก็จะรีบบินมา พึงรู้เถิด อัลลอฮ์เป็นผู้ทรงเกรียงไกร ผู้ทรงปรีชาญาณ” (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ : 260)

อายะฮ์นี้ แสดงถึงระดับการศรัทธาของนบีอิบรอฮีม เริ่มตั้งแต่การมีความรู้ที่เรียกว่า อิลมุลยะกีน คือ ความรู้ทางการศรัทธา แต่ต้องการจะเห็นอย่างประจักษ์ชัดเกี่ยวกับการให้คนตายฟื้นชีพใหม่ เพื่อจะทำให้เกิดความศรัทธาที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ที่เรียกว่า อัยนุลยะกีน ท่านจึงขอให้พระองค์อัลลอฮ์ทรงแสดงให้ประจักษ์ชัดมากขึ้น  พระองค์จึงให้นบีอิบรอฮีมนำนกมา 4 ตัว  แล้วสับรวมกัน โดยเอาไปแยกไว้แต่ละภูเขา  แล้วจงเรียกมันมา  โดยเป็นนกแต่ละตัว มีชีวิตดังเดิม

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

ด้วยกับเหตุการณ์นี้ทำให้นบีอิบรอฮีม อลัยฮ์ฯ มีความตระหนักมั่นทางการศรัทธา  มีความดื่มดำในการศรัทธา ในระดับฮักกุลยะกีน โดยเชื่อมั่นว่า พระองค์อัลลอฮ์ ซุบห์ฯ ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริง  พระองค์อัลลอฮ์ทรงหยิบยกคำยืนยันของนบีอิบรอฮีมมาเสนอหลังจากที่ท่านได้พูดโต้ตอบกับบิดาของท่านและกลุ่มชนของท่านที่เคารพบูชาเจว็ดตามบรรพบุรุษของพวกเขา ถึงพระเจ้าที่แท้จริงซึ่งสมควรได้รับการเคารพภักดี ไว้ในซูเราะฮ์อัชชุอะรอออ์ ว่า

الَّذِي خَلَقَنِي فَهُوَ يَهْدِينِ (۷۸) وَالَّذِي هُوَ يُطْعِمُنِي وَيَسْقِينِ (۷۹) وَإِذَا مَرِضْتُ فَهُوَ يَشْفِينِ (۸۰) وَالَّذِي يُمِيتُنِي ثُمَّ يُحْيِيْنِ (۸١) وَالَّذِي أَطْمَعُ أَنْ يَغْفِرَ لِي خَطِيئَتِي يَوْمَ الدِّين (۸۲)

ความว่า (78) พระองค์คือ ผู้ทรงบังเกิดฉันและพระองค์ทรงนำทางฉัน  (79) และพระองค์คือ ผู้ทรงให้อาหารและน้ำดื่มแก่ฉัน  (80) และเมื่อฉันป่วย พระองค์ทรงประทานให้ฉันหายป่วย  (81) และพระองค์ให้ฉันตาย แล้วพระองค์ก็ทรงให้ฉันฟื้นชีพใหม่ (82) และพระองค์คือ ผู้ที่ฉันหวังจะได้รับการอภัยโทษในความผิดของฉันในวันตอบแทน(กิยามะฮ์)”

ดังที่ได้กล่าวมา อัลอะมานะฮ์ทางการศรัทธาต่ออัลลอฮ์จึงเป็นความรับผิดชอบสูงสุดที่มุสลิมทุกคนจะต้องตระหนักและจะต้องทำให้เพิ่มพูนและมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้น

اللَّهُمَّ زِدْنَا إِيمَانًا وَيَقِينًا وَفِقْهًا

ความว่า โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดเพิ่มพูนการศรัทธา  ความเชื่อมั่นที่แน่นแฟ้น  และความเข้าใจในศาสนาแก่เราด้วยเทอญ”  อามีน

نَفَعَنِي اللهُ وَإِيَّاكُمْ بِالْقُرْآنِ الْعَظِيْمِ، وَبِسُنَّةِ نَبِيِّهِ الْكَرِيْمِ صَلىَّ اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ .أَقُوْلُ قَوْلِيْ هَذَا وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ لِيْ وَلَكُمْ، فَاسْتَغْفِرُوْهُ إَنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرّحِيْمُ

ดาวน์โหลด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top