วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2567 24:14 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> จุลสาร >> มาตรการทางจริยธรรมในการต่อต้านและป้องกันข่าวปลอม ศึกษาคำสอนจากอัลกุรอานและอัลฮะดีษ
มาตรการทางจริยธรรมในการต่อต้านและป้องกันข่าวปลอม ศึกษาคำสอนจากอัลกุรอานและอัลฮะดีษ

มาตรการทางจริยธรรมในการต่อต้านและป้องกันข่าวปลอม ศึกษาคำสอนจากอัลกุรอานและอัลฮะดีษ

 โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลข่าวสารต่างๆที่ส่งผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอมือถือ มีทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ และข่าวบิดเบือน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เห็นหรือได้ยินเป็นข่าวจริงที่ถูกต้องหรือข่าวปลอม (Fake News) ที่มาในรูปแบบต่างๆที่ผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริง ประเด็นการรู้เท่าทันสื่อและการรับมือกับข่าวปลอมจึงเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันที่มนุษย์ใช้สื่อสังคมออนไลน์สื่อสารระหว่างกัน ทำให้ผู้ใช้เป็นได้ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารในขณะเดียวกัน และทำให้สังคมโลกถูกย่อไว้ในจอมือถือเล็กๆเพียงจอเดียว 

     อย่างไรก็ตามสังคมมนุษย์ทราบดีถึงพิษภัยของข่าวปลอมและมีความพยายามที่จะหามาตการต่างๆในการต่อต้าน การป้องกันและการคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แต่มาตรการเหล่านั้นมักไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมนุษย์ขาดความรับผิดชอบชั่วดีและขาดความสำนึกในบาปบุญคุณโทษที่จะได้รับ ศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรการต่างๆให้มนุษย์ปฏิบัติ โดยมีเรื่องศรัทธาและการตอบแทนเป็นส่วนเชื่อมโยงที่สำคัญ ในอิสลามจึงมีคำสอนมากมายที่เป็นมาตการทางจริยธรรมในการแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิเช่น การห้ามพูดเท็จ ห้ามอิจฉาริษยา ห้ามนินทา ห้ามใส่ร้าย ห้ามยุแหย่ ห้ามดูหมิ่นดูแคลน ห้ามการเรียกขานกันด้วยสร้อยหรือฉายาที่ไม่ชอบ ห้ามการกล่าวหา(โดยไม่มีหลักฐาน) ห้ามการมีอคติ และห้ามสร้างความแตกแยกเป็นต้น ข้อห้ามเหล่านี้มีปรากฎอยู่มากมายในคัมภีร์อัลกุรอาน และอัลฮะดีษ นอกเหนือจากนั้นยังมีคำสอนให้มุสลิมผู้ศรัทธารู้จักคัดกรองข่าว เพื่อสร้างความมั่นใจในความถูกต้องของข่าว และจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงและข่าวปลอม ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อบุคคลและสังคม และต่อไปนี้คือตัวอย่างจากคำสอนของอัลกุรอานและอัลฮะดีษเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

คำสอนจากอัลกุรอาน

     1) ในซูเราะฮ์อันนิซาอ์ อายะฮ์ที่ 3 อัลลอฮ์ตรัสไว้ความว่า : “และเมื่อมีเรื่องหนึ่งเรื่องใดมายังพวกเขา จะเป็นความปลอดภัยก็ดี หรือความกลัวก็ดี พวกเขาก็จะแพร่มันออกไป (โดยไม่ไตร่ตรองถึงผลดีผลเสีย) และหากว่าพวกเขาให้มันกลับไปยังเราะซูลและยังผู้ปกครองในหมู่พวกเขา(หมายถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นโดยตรง) แน่นอนบรรดาผู้ที่วินิจฉัยมันในหมู่พวกเขาก็ย่อมรู้มันได้  และหากมิใช่ความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกเจ้าแล้ว แน่นอนพวกเจ้าก็คงปฏิบัติตตามชัยฏอน นอกจากเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น” (ซูเราะฮ์อันนิซาอ์ อายะฮ์ที่ 83) 

     อัลกุรอานโองการนี้สอนให้มุสลิมมีความละเอียดรอบคอบในข่าวที่ได้รับ ไม่ควรรีบด่วนในการนำไปเผยแพร่จนกว่าจะแน่ใจในความถูกต้องของข่าวและในผลดีผลเสียของการเผยแพร่ข่าว

     2) ในซูเราะฮ์อัลกอศ็อศ อายะฮ์ที่55 อัลลอฮ์ตรัสไว้ความว่า : “และเมื่อพวกเขาได้ยินเรื่องไร้สาระพวกเขาก็ผินหลังออกห่างไปจากมัน(โดยไม่โต้ตอบใดๆ) และกล่าวว่า การงานของเราก็จะได้แก่เราและการงานของพวกท่านก็จะได้แก่พวกท่าน(ทางใครทางมัน) ศานติแด่พวกท่าน เราจะไม่ขอออยู่ร่วม(สังสรรค์)กับพวกงมงาย” (ซูเราะฮ์อัลกอศ็อศ อายะฮ์ที่ 55) 

     อัลกุรอานโองการนี้สอนให้มุสลิมออกห่างไกลจากพวกงมงายไร้สาระ โดยให้หลีกเลี่ยงจากการสังสรรค์และการปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ในทุกรูปแบบ

    3) ในซูเราะฮ์อัลอิสรออฺ อายะฮ์ที่36 อัลลอฮ์ตรัสไว้ความว่า : “และอย่าติดตาม(ออกความเห็น)สิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริงหู ตา และหัวใจทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน” (ซูเราะฮ์อัลอิสรออฺ อายะฮ์ที่36)

   ท่านเกาะตาดะฮ์กล่าวอธิบายว่า อย่าพูดว่าฉันเห็นเมื่อท่านไม่เห็นกับตาเอง อย่าพูดว่าฉันได้ยินเมื่อท่านไม่ได้ยินกับหูเอง และอย่าพูดว่าฉันรู้ในเมื่อท่านไม่รู้ เพราะอัลลอฮ์จะทรงถามท่านในเรื่องนั้นทั้งหมด (ดูตัฟซีรอิบนุกะษีรในการอธิบายอายะฮ์) 

    4) ในซูเราะฮ์อันนูร อายะฮ์ที่ 12 อัลลอฮฺตรัสไว้ความว่า : “เมื่อพวกเจ้าได้ยินข่าวเท็จนี้(ข่าวการกล่าวหาและปรักปรำท่านหญิงอาอิชะฮ์ รอฎิยั้ลลอฮุอันฮา) ทำไมบรรดามุอ์มินและมุอ์มินะฮ์จึงไม่คิดเปรียบเทียบกับตัวของพวกเขาเองในทางที่ดี และกล่าวว่านี่เป็นเรื่องโกหกอย่างชัดแจ้ง” (ซูเราะฮ์อันนูร อายะฮ์ที่ 12)

     อัลกุรอานโองการนี้ประทานลงมาในกรณีข่าวเท็จเกี่ยวกับการปรักปรำท่านหญิงอาอิชะฮ์ โดยที่อัลลอฮ์ได้เตือนสำทับมุอฺมินผู้ศรัทธาที่รับข่าวนี้ว่าพวกเขาไม่ควรรีบร้อนตัดสินใจเชื่อการกล่าวหาโดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกกล่าวหา(หมายถึงท่านหญิงอาอิชะฮ์)เป็นคนที่พวกเขารู้ดีว่านางเป็นคนดี เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน พวกเขาจึงควรคิดไปในทางที่ดีและจะต้องไม่เชื่อการกล่าวร้ายหรือการนินทาพี่น้องของเขา  (ดูตัฟซีรอิบนุกะษีรในการอธิบายอายะฮ์) 

    5) ในซูเราะฮ์อัลหุญุรอต อายะฮ์ที่ 6 อัลลอฮ์ตรัสไว้ความว่า : “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย หากคนชั่วนำข่าวใดๆมาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด หาไม่แล้วพวกเจ้าจะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป” (ซูเราะฮ์อัลหุญุรอต อายะฮ์ 6)

    อัลกุรอานโองการนี้เป็นคำสอนสำคัญที่สอนให้ผู้ศรัทธารู้จักคัดกรองข่าว หาความกระจ่างและความถูกต้องในเนื้อข่าว โดยมุ่งเน้นที่ผู้ให้ข่าวหรือแหล่งข่าวเป็นสำคัญว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร คำว่า คนชั่ว (ฟาซิก)ในอายะฮ์ซึ่งหมายถึงผู้ให้ข่าวหรือแหล่งข่าวที่ไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์และความยุติธรรมจึงเป็นคำที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ในปัจจุบัน คำนี้สามารถใช้ได้กับองค์กรหรือบุคคลที่สร้างข่าวลวง ข่าวเท็จ ข่าวบิดเบือนในสื่อสังคมออนไลน์ จึงจำเป็นที่ผู้บริโภคข่าวจะต้องต่อต้านด้วยการไม่เผยแพร่(แชร์)ต่อ และจะต้องรีบหาทางชี้แจงให้สังคมได้รู้ถึงข้อเท็จจริงของข่าว หาไม่แล้วก็จะเกิดความเสียใจและความเสียหายเกินกว่าที่จะแก้ไข

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้เขียน

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top