ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ covid-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) เป็นโรคระบาดติดต่อระหว่างคนกับคนได้สะดวกง่ายดาย ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปเป็นจำนวนมหาศาลและขยายวงกว้างในการแพร่ระบาด ยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลงหรือยุติได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกสูญสิ้นไปเป็นมูลค่าเกินกว่าที่จะคำนวณได้ในขณะนี้
สำหรับประเทศไทย ในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดของ covid-19 เป็นรอบที่ 3 แล้ว (นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์บางท่านบอกว่าเป็นรอบที่ 4 แล้ว) ในรอบนี้เพิ่มรัศมีวงกว้าง และทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าระลอกก่อน ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มสูงสุด คือ พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัย covid-19 มี 2 ระดับ คือ ระดับรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ทั้งของรัฐ และเอกชน หรือในโรงพยาบาลสนามที่รัฐจัดตั้งขึ้น เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว อีกระดับหนึ่ง คือ กลุ่มที่ไม่ถึงขั้นรุนแรง ต้องกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย หรือล่าสุดเข้าพักในศูนย์พักคอย กลุ่มหลังนี้ มีความกังวลใจ และบางรายมีความเครียด เพราะไม่คุ้นกับการอยู่ในช่วงปรับตัวกับ new normal หรือการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ในการเยียวยาและส่งกำลังใจให้กับบุคคลในกลุ่มที่ 2 นี้ องค์กรศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้มีดำริร่วมกันในการมอบน้ำใจและความห่วงใย เป็นอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน เป็นอาหารฮาลาล ซึ่งทุกคนสามารถรับประทานได้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กักตัวหรืออยู่ในสภาวะเฝ้าระวังอาการได้ระดับหนึ่ง โครงการ อาหารฮาลาลสายสัมพันธ์แห่งความห่วงใยในสถานการณ์แพร่ระบาดของ covid 19 จึงเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา รูปแบบการดำเนินการเป็นการสนธิความร่วมมือของทุกภาคส่วน กล่าวคือ ได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขต (อำเภอ) ต่าง ๆ ช่วยรับอาหารที่ปรุงสุกพร้อมรับประทาน นำไปส่งมอบให้ถึงมือผู้เดือดร้อนในชุมชนต่างๆ และได้รับความร่วมมือจากมัสยิดใน กรุงเทพมหานครร่วมระดมทุนทรัพย์จัดส่งมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำอาหาร นอกจากนี้ได้มีกลุ่มบุคคล องค์กร และบุคคลทั่วไปทุกศาสนิกได้ร่วมกันบริจาคสมทบเพื่อการจัดอาหารเช่นเดียวกันผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม คือ โครงการนี้ได้มอบอาหารให้กับผู้เดือดร้อนในพื้นที่เขตต่างๆ แล้ว จำนวน 31 สำนักงานเขต เขตละ 2 ครั้ง เป็นจำนวนอาหาร เขตละ 400 ชุด และมีบางเขตที่มีความเดือดร้อนจำนวนมาก ได้รับการมอบเพิ่มเป็นเขตละ 500 ชุด จำนวน 3 สำนักงานเขต และจำนวน 600 ชุด จำนวน 1 สำนักงานเขต นอกจากนั้นได้มีการจัดส่งให้บุคลากรทางการแพทย์มุสลิมที่เดินทางมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลบุษราคัมเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นเวลา 5 วันอีกด้วย รวมยอดอาหารที่ได้มีการจัดทำและมอบไปแล้ว เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13,150 ชุด ใช้งบประมาณทั้งหมดเป็นเงิน 1,335,160 บาท (หนึ่งล้านสามแสนสามหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยหกสิบบาท) สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจในการดำเนินการโครงการนี้ อาจสรุปได้ว่า เป็นโครงการ 5 in 1 คือ เกิดนวัตกรรมใน 5 มิติสำคัญ ดังนี้
1.เป็นการร่วมมือในการทำงานระหว่างองค์กรศาสนาอิสลามกับหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดโดยมีประชาชนผู้เดือดร้อนเป็นเป้าหมายหลัก
2.เป็นการใช้บทบาทของมัสยิดในการดูแลและรับผิดชอบต่อสังคมทั้งการผลิต ปรุงอาหาร การบรรจุอาหารลงกล่อง และใช้เป็นสถานที่ส่งมอบอาหารทุกครั้ง
3.เปิดโอกาสให้ข้าราชการของรัฐเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้เข้ามาเยี่ยมเยียนและสัมผัสกับบรรยากาศ และบริบทของมัสยิดและชุมชนของมัสยิดและเป็นการเยี่ยมเยียนเพื่อสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต
- อาหารฮาลาลเป็นสายสัมพันธ์ในมิตรภาพอันดีระหว่างผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรม เพราะอาหารที่ผลิตโดยชุมชนมัสยิดเป็นอาหารฮาลาลที่มอบให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนในทุกศาสนาโดยไม่มีการแบ่งแยกแต่ประการใด
- เป็นสะพานบุญที่เปิดโอกาสให้บุคคลทุกศาสนิกชน ได้มีโอกาสทำบุญร่วมกันเป็นกิจกรรม “มหากุศล” ด้วยการมอบอาหารเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ covid 19 ตัวอันตรายของชาวโลก
ขอขอบพระคุณทุก ๆ ท่าน ทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมดำเนินการช่วยเหลือ หรือร่วมสนับสนุนโครงการอันเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมสังคมในครั้งนี้ ขอได้รับการขอบคุณอย่างสูงจากสำนักจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครมา ณ ที่นี้ด้วย
สมัย เจริญช่าง ผู้เขียน