นายอรุณ บุญชม ประธานกรรมการจัดงาน “ถวายความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้แถลงว่า จุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตลอดจนคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด พร้อมทั้งชาวไทยมุสลิม ได้มีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงได้พร้อมกันจัดงานถวายความรำลึกต่อพระองค์ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กทม. โดยงานเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น.เป็นต้นไป งานดังกล่าวมีนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เป็นประธานอำนวยการ
ในงานครั้งนี้ นายอรุณ บุญชม ประธานจัดงานฯ ได้กล่าวถวายความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีรายละเอียด ดังนี้
นับแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ถึงวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์สมบัติครบ ๗๐ ปี พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจคุณูปการเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของปวงชนชาวไทย
ในฐานะพสกนิกรชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ สำนักจุฬาราชนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและองค์กรมัสยิด จึงได้ร่วมกันจัดงาน “ถวายความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ขึ้น พระองค์ทรงมีโครงการในพระราชดำริจำนวนหลายพันโครงการและพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกเหลือคณานับที่ล้วนแล้วสร้างคุณูปการใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า และทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ๖ ด้าน พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยมุสลิม ดังนี้
๑. ด้านการส่งเสริมการศึกษาหลักคำสอนศาสนาอิสลาม
ทรงพระราชทานพระราชดำริและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้นายต่วน สุวรรณ-ศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี แปลความหมายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย เพื่อจะได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งและเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่ประเทศชาติ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “การแปลความหมายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาต่างประเทศนั้น มิใช่งานที่จะทำได้ง่าย ๆ ผู้แปล ผู้ให้ความหมายจะต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาและวิชาการประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย”
๒. ด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม
ทรงเสด็จพระราชดำเนินในงานเมาลิดกลางซึ่งเป็นงานสำคัญของชาวไทยมุสลิม ทรงพระราชทานพระราชดำริให้รัฐบาลจัดสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดต่าง ๆ ใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่ประเทศ และทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดมัสยิดด้วยพระองค์เอง
๓. ด้านการส่งเสริมการศึกษาของชาวไทยมุสลิม
ทรงห่วงใยและมีพระราชกระแสรับสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการหาลู่ทางในการส่งเสริมและปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นระบบขึ้น มีการประชุมปรึกษาหารือกับบรรดาโต๊ะครูปอเนาะอยู่เสมอ และปอเนาะใดที่มีการปรับปรุงและพัฒนาขึ้นก็จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนที่มีการบริหารการเรียนการสอนดีเด่น และจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ เป็นต้นมา และทรงมีพระบรมราโชวาทไว้ตอนหนึ่งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ ว่า “ผู้ใดที่มีทั้งหลักวิชาทั้งหลักศาสนาย่อมดำเนินถึงความสำเร็จในชีวิตได้ไม่พลาดพลั้ง เพราะสามารถพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้โดยละเอียดรอบคอบทุกแง่มุมด้วยเหตุผล”
๔. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยมุสลิมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ทรงส่งเสริมอาชีพอย่างเท่าเทียมกันทั่วถึงทั้งประเทศ ทั้งโครงการพระราชดำริ และโครงการส่งเสริมอาชีพ จะทรงส่งเสริมตามอาชีพที่มีในจังหวัดนั้น ๆ และให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ ทรงหาวิธีช่วยแก้ปัญหา ทรงสนับสนุนให้มีโครงการศูนย์การศึกษาและพัฒนาการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกภาค และศูนย์ฯ ที่มุสลิมส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
๕. ด้านการส่งเสริมบริหารกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และโดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัฐบาลได้ตรากฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามขึ้นใช้เป็นกรณีพิเศษในประเทศไทย คือ กฎหมายว่าด้วยครอบครัวมรดก ประกาศใช้เฉพาะ ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้
๖. ด้านการส่งเสริมยกย่องบุคลากรศาสนาอิสลาม
ทรงพระราชทานรางวัลดีเด่นแก่ผู้นำศาสนาอิสลามและโต๊ะครูปอเนาะดีเด่นเช่นกัน ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้นี้
อนึ่งในการจัดงานถวายความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณฯครั้งนี้ มีอิหม่าม ข้าราชการ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด และชาวไทยมุสลิมเข้าร่วมพิธี จำนวนประมาณ ๔,๐๐๐ คน