วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 29:32 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> บทความจากวิทยากร >> ซะกาตตามหลักการศาสนาอิสลาม
ซะกาตตามหลักการศาสนาอิสลาม

ซะกาตตามหลักการศาสนาอิสลาม

ซะกาตตามหลักการศาสนาอิสลาม

นายอรุณ  บุญชม

ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร

ซะกาต : ความหมาย ความสำคัญ และหลักการ

              ในฐานะที่เป็นคนไทย ขณะที่มีงานทำและมีรายได้เป็นเงินเดือนประจำในทุกสิ้นเดือนที่บริษัทจ่ายเงินเดือนให้ ต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนหนึ่งให้แก่รัฐตามกฎระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ หากใครหลีกเลี่ยงภาษีก็ถือว่าผิดกฏหมายและหากถูกจับได้ก็จะต้องถูกลงโทษตามที่กฏหมายระบุไว้

ทำไมต้องจ่ายภาษี ?

คำตอบก็คือ มันเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำนุบำรุงและพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะส่งผลดีกลับมายังผู้จ่ายนั้นเอง ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำระปา การชลประทาน โรงเรียน  โรงพยาบาล เงินเดือนข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และอื่นๆเหล่านี้ล้วนแต่มาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

แต่ในฐานะที่เป็นมุสลิม  นอกจากจะต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐแล้ว ยังต้องจ่ายภาษีศาสนาที่เรียกว่า “ซะกาต” อีกส่วนหนึ่งให้แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับ 8 ประเภทตามที่ศาสนากำหนดไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะพระเจ้า (อัลลอฮฺ)

การจ่ายซะกาตเป็นบทบัญญัติทางกฏหมายอิสลามที่กำหนดให้บุคคลและนิติบุคคลมุสลิมทีมีทรัพย์สินถึงพิกัดอัตราทที่ศาสนากำหนดไว้ (นิศอบ) ในวันครบรอบปีจันทรคติจะต้องจ่ายทรัพย์สินนี้ออกไปจำนวนหนึ่งในอัตราที่ศาสนากำหนดไว้

ในทางศาสนา  การจ่ายซะกาตเป็นวินัยบัญญัติสำคัญหนึ่งใน 5 ประการ สำหรับมุสลิมจะต้องปฏิบัติ การหลีกเลี่ยงถือเป็นบาปใหญ่และเป็นการเนรคุณต่อพระเจ้า

แต่หากมองในทางเศรษฐกิจและสังคม  ซะกาต คือ ภาษีที่พลเมืองมุสลิมทุกคนต้องจ่ายกลับสู่สังคมตามกำหนดเวลา  ตามกรรมวิธีและตามอัตราที่ศาสนากำหนดไว้ ดังนั้น ซะกาตจึงไม่ใช่ “การบริจาคทาน” ตามความสมัครใจที่จะทำเมื่อใด อย่างไรและจำนวนมากน้อยแค่ไหนก็ได้ เหมือนกับการบริจาคทาน แต่มันเป็นภาษีอย่างหนึ่งซึ่งมีกฎเกณฑ์สำหรับการปฏิบัติ

ที่เรียกซะกาตเป็นภาษี เพราะในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ อิสลามมิได้เป็นแค่เพียงพิธีกรรมทางศาสนาในความหมายแคบๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นรัฐที่มีธรรมนูญ (คัมภีร์อัล     กุรอาน) มีอธิปไตย มีอาณาเขตและมีประชาชนมุสลิมเป็นองค์ประกอบสำคัญในความหมายของคำว่ารัฐโดยสมบูรณ์ อิสลามก็จำเป็นต้องมีอำนาจรัฐหรือรัฐบาลเป็นผู้รักษากฎหมาย รัฐบาลของรัฐอิสลามในสมัยนั้นก็เหมือนกับรัฐบาลรัฐในทุกอุดมการณ์ที่จะต้องมีรายได้มาใช้จ่ายในการป้องกันประเทศ และทำนุบำรุงบ้านเมืองในด้านต่างๆเป็นธรรมดา

แต่ “ซะกาต” กับ “ภาษีสมัยใหม่” มีความแตกต่างที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งนั้นก็ คือ ซะกาต เป็นภาษีที่อิสลามกำหนดให้เป็นวินัยบัญญัติสำคัญทางศาสนา การหลบเลี่ยงไม่จ่ายซะกาต อาจรอดพ้นจากการลงโทษของเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่โลกหน้าคนผู้นั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงการลงโทษจากพระเจ้าไปได้ ส่วนภาษีสมัยใหม่นั้นถูกแยกออกจากความรู้สึกทางศาสนาโดยสิ้นเชิง ดั้งนั้น ผู้คนจะหาทางหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีโดยไม่มีความรู้สึกกลัวแต่ประการใด

ความหมายของคำว่า “ซะกาต”

คำว่า “ซะกาต” เป็นคำภาษาอาหรับที่มีความหมายว่า “การขัดเกลาให้สะอาดบริสุทธิ” “การเพิ่มพูล” และ “การเจริญงอกงาม”

การจ่ายซะกาตเป็นการขัดเกลาจิตใจของผู้มีทรัพย์สินให้สะอาดหมดจดจากความตระหนี่ถี่เหนียวซึ่งเป็นมลทินที่เกาะกินจิตใจให้สกปรกและหยาบกระด้าง ขณะเดียวกันเป็นการซักฟอกทรัพย์สินที่หามาได้ให้สะอาดบริสุทธิ์

นอกจากนี้แล้ว เมื่อมีการจ่ายซะกาตออกไปให้กับคนจน คนขัดสน หรือคนมีหนี้สิน มันก็เป็นการสร้างอำนาจการซื้อให้แก่คนที่ไม่มีอำนาจการซื้อ เมื่อคนในสังคมมีอำนาจซื้อ ก็จะส่งผลให้ร้านค้าสามารถรักษาการจ้างงาน การกระจ่ายรายได้ไว้ได้ระดับหนึ่ง และสร้างความจำเริญดีงามให้แก่ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และสังคมโดยรวม

ทรัพย์สินอะไรที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต…?

  1. โลหะเงินและทองคำ เงินสด เงินในบัญชี หุ้นสินค้า (ของตนเองไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรืออัญมณี) ที่มีไว้ขายทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นนำมาฝากขายหากมีมูลค่าเท่าราคาทองคำ  หนัก  85  กรัม หรือประมาณ 5.66 บาท (ทองคำหนึ่งบาทหนัก 15 กรัม) เมื่อครบรอบปีก็จะต้องจ่ายซะกาต 2.5% จากทรัพย์สินเหล่านี้
  2.  ผลผลิตจากการเกษตร หากเป็นผลผลิตที่เกิดจากการใช้ชลประทาน ที่ต้องลงทุนอัตราซะกาต คือ5% หากไม่ใช้การชลประทานและอาศัยน้ำฝนอย่างเดี่ยว อัตราซะกาต คือ 10%
  3. ปศุสัตว์เช่น แพะ แกะ วัว ความ อูฐ เป็นต้น
  4. ขุมทรัพย์ที่พบได้ในแผ่นดิน

ระยะเวลาของการจ่ายซะกาต

การเริ่มต้นปีซะกาตนั้น เริ่มต้นในวันคนผู้นั้นจ่ายซะกาตเป็นครั้งแรก นั้นคือ วันที่คนผู้นั้นมีทรัพย์สินครบพิกัดอัตราที่ศาสนากำหนดไว้ หลักจากนั้น เมื่อครบปีจันทร์คติซึ่งมี 354 วัน หากยังมีทรัพย์สินอยู่อีกก็จะต้องจ่ายอีกตามกรรมวิธีเดิม เพราะซะกาตนั้นคิดจากทรัพย์สินที่ออมไว้ ไม่ใช่คิดจากรายได้สะสมไว้มาเท่าใด ก็ต้องจ่ายมากขึ้นเท่านั้นนี้ คือ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ทุกคนเรียกร้องมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

ผู้มีสิทธิ์ได้รับซะกาต

คำภีร์อัลกุรอานกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ซะกาตไม่ใช่สิทธิของเราหากเป็นสิทธิที่อัลลฮฺ  ได้กำหนดไว้เพื่อ

  1. คนยากจน
  2. จนอนาถา
  3. คนที่ทำหน้าที่ในเรื่องจัดการซะกาต
  4. คนที่มีหัวใจโน้มมาสู่อิสลาม
  5. ทาสและ เชลย
  6. คนมีหนี้สิน
  7. ในหนทางของอัลลอฮฺ
  8. คนที่ติดขัดในระหว่างเดินทาง

วิธีการคำนวณซะกาตเงิน ซะกาตทอง

  1. มีทองรูปประพรรณ อยู่  10 บาท   แล้วที่ใช้เป็นประจำจริงๆ มี  6  บาท ครับ  แล้วจะต้องออกซะกาต อย่างไรครับ

จะออกแค่ 4 บาท หรือ ต้องออกทั้งหมด 10 บาท ครับ   มีเงินอยู่ ใน ธนาคารแค่  25,000  บาท เอง ครับ จะออกอย่างไร

  1. แล้วในส่วนของเงินธนบัตร   คิดตาม ราคาทอง  6 บาท ใช่หรือ ไม่ ครับ
  2. แล้วสมมุติ ว่า มี ทองรูปประพรรณอยู่ 10 บาท  มีเงินอยู่ 90,000 บาท  จะคิดออกซะกาตอย่างไร ครับคิดรวมกันไปเลยหรือเปล่า หรือคิดแยกกันครับ

ข้อ 1    ทองรูปพรรณที่มีอยู่ 10 บาทนี้ถ้าเป็นของคุณผู้ชายเองซึ่งตามหลักศาสนาบัญญัติห้ามคุณผู้ชายสวมใส่เครื่องประดับจำพวกทองรูปพรรณยกเว้นแหวนเงิน เมื่อมีจำนวนถึงอัตราพิกัดคิดเป็นบาทได้ราว 6 บาทขึ้นไปก็ถือว่าวาญิบต้องออกซะกาตเมื่อครบรอบปีในการครอบครองกรรมสิทธิโดยสมบูรณ์ และกรณีนี้ต้องคิดคำนวณจำนวนของทั้ง 10 บาทพร้อมด้วยเงินธนาคารที่มีอยู่ 25,000 บาท และตีราคาเป็นเงินทั้งหมดว่าเท่าไหร่ก็ให้หักออก 2.5% เป็นซะกาต แต่ถ้าทองรูปพรรณ 10 บาทนั้นเป็นของคุณผู้หญิงและมีการใช้สอยอยู่ด้วย กรณีนี้นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน ฝ่ายที่หนึ่ง มีความเห็นว่าจำเป็นต้องออกซะกาตตามเงื่อนไขที่ศาสนากำหนดไว้ คือ มีกรรมสิทธิครอบครองโดยสมบูรณ์ถึงพิกัดอัตรา (คือ 6 บาทขึ้นไป) และครบรอบปี ก็ให้ออกซะกาตเหมือนวิธีแรก

ฝ่ายที่สอง ถือว่าไม่วาญิบต้องออกซะกาตแต่อย่างใด ในกรณีที่มีการใช้สอยอยู่เป็นประจำ ไม่ได้เก็บสะสมเอาไว้เฉยๆ และมีมากเกินความจำเป็น โดยถือหลักจารีตเป็นการกำหนด ทัศนะของฝ่ายที่สองนี้มีน้ำหนักและเป็นทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟีอีย์

หากถือตามทัศนะที่สอง ทองจำนวน 10 บาทนี้ก็ไม่วาญิบต้องออกซะกาต เพราะเป็นทองรูปพรรณที่ใช้สอยอยู่ถึงแม้เพียงแค่ 4 บาทก็ตาม และการมีทองรูปพรรณเพียง 10 บาทก็ไม่ได้ถือว่ามีมากเกินความจำเป็นตามหลักจารีต ส่วนเงินในธนาคารที่มีอยู่ 25,000  ก็ยังไม่วาญิบต้องออกซะกาตเพราะยังไม่ถึงอัตราพิกัดที่ศาสนากำหนดเอาไว้

ข้อ 2    เงินธนบัตร ให้คิดตามราคาทอง 6 บาทครับ

ข้อ 3    ถ้าถือตามทัศนะของฝ่ายแรกก็ต้องคิดรวมทั้ง 2 อย่าง คือทั้งทองรูปพรรณจำนวน 10 บาทบวกด้วยเงินที่มีอยู่ 90,000  บาท เมื่อครบเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด โดยคิดจำนวนเป็นเงินรวมทั้งหมดแล้วหักออกเป็นซะกาต 2.5%  แต่ถ้าถือทัศนะของฝ่ายที่สอง ก็คิดเฉพาะเงินในบัญชีว่ามีจำนวนอัตราพิกัดเท่ากับทองคำ 6 บาทหรือไม่ หากตีเสียว่า ทองคำ 1 บาท 2 หมื่นถ้วน (ตัวเลขกลมๆ) ทองคำ 6 บาทก็เท่ากับจำนวนเงิน 120,000 บาทก็จะเห็นว่าเงินจำนวน 90,000 บาทที่อยู่ในธนาคาร ณ เวลานั้นยังไม่ถึงอัตราพิกัดขั้นต่ำที่จะต้องออกซะกาต

 

——————————

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top