ซะกาตตามหลักการศาสนาอิสลาม
นายอรุณ บุญชม
ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
ซะกาต : ความหมาย ความสำคัญ และหลักการ
ในฐานะที่เป็นคนไทย ขณะที่มีงานทำและมีรายได้เป็นเงินเดือนประจำในทุกสิ้นเดือนที่บริษัทจ่ายเงินเดือนให้ ต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนหนึ่งให้แก่รัฐตามกฎระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ หากใครหลีกเลี่ยงภาษีก็ถือว่าผิดกฏหมายและหากถูกจับได้ก็จะต้องถูกลงโทษตามที่กฏหมายระบุไว้
ทำไมต้องจ่ายภาษี ?
คำตอบก็คือ มันเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำนุบำรุงและพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะส่งผลดีกลับมายังผู้จ่ายนั้นเอง ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำระปา การชลประทาน โรงเรียน โรงพยาบาล เงินเดือนข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และอื่นๆเหล่านี้ล้วนแต่มาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น
แต่ในฐานะที่เป็นมุสลิม นอกจากจะต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐแล้ว ยังต้องจ่ายภาษีศาสนาที่เรียกว่า “ซะกาต” อีกส่วนหนึ่งให้แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับ 8 ประเภทตามที่ศาสนากำหนดไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะพระเจ้า (อัลลอฮฺ)
การจ่ายซะกาตเป็นบทบัญญัติทางกฏหมายอิสลามที่กำหนดให้บุคคลและนิติบุคคลมุสลิมทีมีทรัพย์สินถึงพิกัดอัตราทที่ศาสนากำหนดไว้ (นิศอบ) ในวันครบรอบปีจันทรคติจะต้องจ่ายทรัพย์สินนี้ออกไปจำนวนหนึ่งในอัตราที่ศาสนากำหนดไว้
ในทางศาสนา การจ่ายซะกาตเป็นวินัยบัญญัติสำคัญหนึ่งใน 5 ประการ สำหรับมุสลิมจะต้องปฏิบัติ การหลีกเลี่ยงถือเป็นบาปใหญ่และเป็นการเนรคุณต่อพระเจ้า
แต่หากมองในทางเศรษฐกิจและสังคม ซะกาต คือ ภาษีที่พลเมืองมุสลิมทุกคนต้องจ่ายกลับสู่สังคมตามกำหนดเวลา ตามกรรมวิธีและตามอัตราที่ศาสนากำหนดไว้ ดังนั้น ซะกาตจึงไม่ใช่ “การบริจาคทาน” ตามความสมัครใจที่จะทำเมื่อใด อย่างไรและจำนวนมากน้อยแค่ไหนก็ได้ เหมือนกับการบริจาคทาน แต่มันเป็นภาษีอย่างหนึ่งซึ่งมีกฎเกณฑ์สำหรับการปฏิบัติ
ที่เรียกซะกาตเป็นภาษี เพราะในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ อิสลามมิได้เป็นแค่เพียงพิธีกรรมทางศาสนาในความหมายแคบๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นรัฐที่มีธรรมนูญ (คัมภีร์อัล กุรอาน) มีอธิปไตย มีอาณาเขตและมีประชาชนมุสลิมเป็นองค์ประกอบสำคัญในความหมายของคำว่ารัฐโดยสมบูรณ์ อิสลามก็จำเป็นต้องมีอำนาจรัฐหรือรัฐบาลเป็นผู้รักษากฎหมาย รัฐบาลของรัฐอิสลามในสมัยนั้นก็เหมือนกับรัฐบาลรัฐในทุกอุดมการณ์ที่จะต้องมีรายได้มาใช้จ่ายในการป้องกันประเทศ และทำนุบำรุงบ้านเมืองในด้านต่างๆเป็นธรรมดา
แต่ “ซะกาต” กับ “ภาษีสมัยใหม่” มีความแตกต่างที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งนั้นก็ คือ ซะกาต เป็นภาษีที่อิสลามกำหนดให้เป็นวินัยบัญญัติสำคัญทางศาสนา การหลบเลี่ยงไม่จ่ายซะกาต อาจรอดพ้นจากการลงโทษของเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่โลกหน้าคนผู้นั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงการลงโทษจากพระเจ้าไปได้ ส่วนภาษีสมัยใหม่นั้นถูกแยกออกจากความรู้สึกทางศาสนาโดยสิ้นเชิง ดั้งนั้น ผู้คนจะหาทางหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีโดยไม่มีความรู้สึกกลัวแต่ประการใด
ความหมายของคำว่า “ซะกาต”
คำว่า “ซะกาต” เป็นคำภาษาอาหรับที่มีความหมายว่า “การขัดเกลาให้สะอาดบริสุทธิ” “การเพิ่มพูล” และ “การเจริญงอกงาม”
การจ่ายซะกาตเป็นการขัดเกลาจิตใจของผู้มีทรัพย์สินให้สะอาดหมดจดจากความตระหนี่ถี่เหนียวซึ่งเป็นมลทินที่เกาะกินจิตใจให้สกปรกและหยาบกระด้าง ขณะเดียวกันเป็นการซักฟอกทรัพย์สินที่หามาได้ให้สะอาดบริสุทธิ์
นอกจากนี้แล้ว เมื่อมีการจ่ายซะกาตออกไปให้กับคนจน คนขัดสน หรือคนมีหนี้สิน มันก็เป็นการสร้างอำนาจการซื้อให้แก่คนที่ไม่มีอำนาจการซื้อ เมื่อคนในสังคมมีอำนาจซื้อ ก็จะส่งผลให้ร้านค้าสามารถรักษาการจ้างงาน การกระจ่ายรายได้ไว้ได้ระดับหนึ่ง และสร้างความจำเริญดีงามให้แก่ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และสังคมโดยรวม
ทรัพย์สินอะไรที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต…?
- โลหะเงินและทองคำ เงินสด เงินในบัญชี หุ้นสินค้า (ของตนเองไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรืออัญมณี) ที่มีไว้ขายทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นนำมาฝากขายหากมีมูลค่าเท่าราคาทองคำ หนัก 85 กรัม หรือประมาณ 5.66 บาท (ทองคำหนึ่งบาทหนัก 15 กรัม) เมื่อครบรอบปีก็จะต้องจ่ายซะกาต 2.5% จากทรัพย์สินเหล่านี้
- ผลผลิตจากการเกษตร หากเป็นผลผลิตที่เกิดจากการใช้ชลประทาน ที่ต้องลงทุนอัตราซะกาต คือ5% หากไม่ใช้การชลประทานและอาศัยน้ำฝนอย่างเดี่ยว อัตราซะกาต คือ 10%
- ปศุสัตว์เช่น แพะ แกะ วัว ความ อูฐ เป็นต้น
- ขุมทรัพย์ที่พบได้ในแผ่นดิน
ระยะเวลาของการจ่ายซะกาต
การเริ่มต้นปีซะกาตนั้น เริ่มต้นในวันคนผู้นั้นจ่ายซะกาตเป็นครั้งแรก นั้นคือ วันที่คนผู้นั้นมีทรัพย์สินครบพิกัดอัตราที่ศาสนากำหนดไว้ หลักจากนั้น เมื่อครบปีจันทร์คติซึ่งมี 354 วัน หากยังมีทรัพย์สินอยู่อีกก็จะต้องจ่ายอีกตามกรรมวิธีเดิม เพราะซะกาตนั้นคิดจากทรัพย์สินที่ออมไว้ ไม่ใช่คิดจากรายได้สะสมไว้มาเท่าใด ก็ต้องจ่ายมากขึ้นเท่านั้นนี้ คือ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ทุกคนเรียกร้องมาตลอดทุกยุคทุกสมัย
ผู้มีสิทธิ์ได้รับซะกาต
คำภีร์อัลกุรอานกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ซะกาตไม่ใช่สิทธิของเราหากเป็นสิทธิที่อัลลฮฺ ได้กำหนดไว้เพื่อ
- คนยากจน
- จนอนาถา
- คนที่ทำหน้าที่ในเรื่องจัดการซะกาต
- คนที่มีหัวใจโน้มมาสู่อิสลาม
- ทาสและ เชลย
- คนมีหนี้สิน
- ในหนทางของอัลลอฮฺ
- คนที่ติดขัดในระหว่างเดินทาง
วิธีการคำนวณซะกาตเงิน ซะกาตทอง
- มีทองรูปประพรรณ อยู่ 10 บาท แล้วที่ใช้เป็นประจำจริงๆ มี 6 บาท ครับ แล้วจะต้องออกซะกาต อย่างไรครับ
จะออกแค่ 4 บาท หรือ ต้องออกทั้งหมด 10 บาท ครับ มีเงินอยู่ ใน ธนาคารแค่ 25,000 บาท เอง ครับ จะออกอย่างไร
- แล้วในส่วนของเงินธนบัตร คิดตาม ราคาทอง 6 บาท ใช่หรือ ไม่ ครับ
- แล้วสมมุติ ว่า มี ทองรูปประพรรณอยู่ 10 บาท มีเงินอยู่ 90,000 บาท จะคิดออกซะกาตอย่างไร ครับคิดรวมกันไปเลยหรือเปล่า หรือคิดแยกกันครับ
ข้อ 1 ทองรูปพรรณที่มีอยู่ 10 บาทนี้ถ้าเป็นของคุณผู้ชายเองซึ่งตามหลักศาสนาบัญญัติห้ามคุณผู้ชายสวมใส่เครื่องประดับจำพวกทองรูปพรรณยกเว้นแหวนเงิน เมื่อมีจำนวนถึงอัตราพิกัดคิดเป็นบาทได้ราว 6 บาทขึ้นไปก็ถือว่าวาญิบต้องออกซะกาตเมื่อครบรอบปีในการครอบครองกรรมสิทธิโดยสมบูรณ์ และกรณีนี้ต้องคิดคำนวณจำนวนของทั้ง 10 บาทพร้อมด้วยเงินธนาคารที่มีอยู่ 25,000 บาท และตีราคาเป็นเงินทั้งหมดว่าเท่าไหร่ก็ให้หักออก 2.5% เป็นซะกาต แต่ถ้าทองรูปพรรณ 10 บาทนั้นเป็นของคุณผู้หญิงและมีการใช้สอยอยู่ด้วย กรณีนี้นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน ฝ่ายที่หนึ่ง มีความเห็นว่าจำเป็นต้องออกซะกาตตามเงื่อนไขที่ศาสนากำหนดไว้ คือ มีกรรมสิทธิครอบครองโดยสมบูรณ์ถึงพิกัดอัตรา (คือ 6 บาทขึ้นไป) และครบรอบปี ก็ให้ออกซะกาตเหมือนวิธีแรก
ฝ่ายที่สอง ถือว่าไม่วาญิบต้องออกซะกาตแต่อย่างใด ในกรณีที่มีการใช้สอยอยู่เป็นประจำ ไม่ได้เก็บสะสมเอาไว้เฉยๆ และมีมากเกินความจำเป็น โดยถือหลักจารีตเป็นการกำหนด ทัศนะของฝ่ายที่สองนี้มีน้ำหนักและเป็นทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟีอีย์
หากถือตามทัศนะที่สอง ทองจำนวน 10 บาทนี้ก็ไม่วาญิบต้องออกซะกาต เพราะเป็นทองรูปพรรณที่ใช้สอยอยู่ถึงแม้เพียงแค่ 4 บาทก็ตาม และการมีทองรูปพรรณเพียง 10 บาทก็ไม่ได้ถือว่ามีมากเกินความจำเป็นตามหลักจารีต ส่วนเงินในธนาคารที่มีอยู่ 25,000 ก็ยังไม่วาญิบต้องออกซะกาตเพราะยังไม่ถึงอัตราพิกัดที่ศาสนากำหนดเอาไว้
ข้อ 2 เงินธนบัตร ให้คิดตามราคาทอง 6 บาทครับ
ข้อ 3 ถ้าถือตามทัศนะของฝ่ายแรกก็ต้องคิดรวมทั้ง 2 อย่าง คือทั้งทองรูปพรรณจำนวน 10 บาทบวกด้วยเงินที่มีอยู่ 90,000 บาท เมื่อครบเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด โดยคิดจำนวนเป็นเงินรวมทั้งหมดแล้วหักออกเป็นซะกาต 2.5% แต่ถ้าถือทัศนะของฝ่ายที่สอง ก็คิดเฉพาะเงินในบัญชีว่ามีจำนวนอัตราพิกัดเท่ากับทองคำ 6 บาทหรือไม่ หากตีเสียว่า ทองคำ 1 บาท 2 หมื่นถ้วน (ตัวเลขกลมๆ) ทองคำ 6 บาทก็เท่ากับจำนวนเงิน 120,000 บาทก็จะเห็นว่าเงินจำนวน 90,000 บาทที่อยู่ในธนาคาร ณ เวลานั้นยังไม่ถึงอัตราพิกัดขั้นต่ำที่จะต้องออกซะกาต
——————————