ข้อเสนอแนะของจุฬาราชมนตรี พ.ศ.๒๕๕๖
ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือนรอมฎอน
———————
“เดือนรอมฎอน” เป็นเดือนที่อัลลอฮฺทรงประทานอัลกุรอานและบัญญัติให้มุสลิมถือศีลอด รอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่งการเพิ่มพูนคุณงามความดี การขัดเกลาจิตใจ การอภัยโทษ และการลบล้างความผิดพลาด ตลอดทั้งการหยิบยื่นความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม
พ.ศ.๒๕๔๐ จุฬาราชมนตรีจึงจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบถ้วน ถูกต้องสมบูรณ์ และสร้างสันติสุขตลอดช่วงเดือนรอมฎอน โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
๑. ช่วงเตรียมการเข้าสู่เดือนรอมฎอน
๑) จัดให้มีบริการด้านสุขภาพแก่มุสลิมเพื่อเตรียมความพร้อมทางร่างกายในการ
ถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ เช่น การตรวจสุขภาพ การชี้แจงแนวปฏิบัติของผู้ป่วยในการ
ถือศีลอด การชี้แจงแนวปฏิบัติด้านการดูแลสุขภาพในเดือนรอมฎอน เป็นต้น
๒) ให้ความรู้ด้านคุณค่าของการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน เช่น บรรยาย ปฏิทินกิจกรรมรอมฎอน เอกสารประกอบการถือศีลอด ฯลฯ
๓) อำนวยความสะดวกและจัดสรรปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนแก่ผู้ด้อยโอกาส เด็กกำพร้า และผู้ต้องขังมุสลิมและครอบครัว
๔) สนับสนุนอาหารในการละศีลอดและปัจจัยสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ อาทิเช่น อินทผลัม น้ำตาลทราย หรือชุดละหมาด แก่องค์กรศาสนาอิสลาม มัสยิด และผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอย่างทั่วถึง
๒. ช่วงระหว่างเดือนรอมฎอน
๑) ควรผ่อนปรนเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มุสลิม โดยมีช่วงเวลาปฏิบัติงาน
ตั้งแต่ ๐๘.๓๐ – ๑๕.๐๐ น. เพื่อให้มีเวลาเตรียมความพร้อมสำหรับการละศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างมีคุณค่า
๒) สนับสนุนให้ละศีลอดร่วมกัน ณ มัสยิดของแต่ละชุมชน โดยหน่วยงานราชการ
ไม่ควรจัดกิจกรรมละศีลอดตามสถานที่ราชการ เพราะอาจกระทบกับความปลอดภัยและการปฏิบัติศาสนกิจของบุคคลในเดือนรอมฎอน
๓) ควรงดเว้นการจัดกิจกรรมอบรม ประชุมสัมมนา สำหรับเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนมุสลิม ในช่วงเวลาสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน
๔) ส่งเสริมและสนับสนุนการละหมาดตะรอเวียะห์และการเอี๊ยะติกัฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะเยาวชนในทุกชุมชน และอาจให้มีรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจสำหรับ
ผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
๕) ควรใช้สื่อของรัฐทุกประเภทเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น การอ่านและศึกษาอัลกุรอานตลอดเดือนรอมฎอน ถ่ายทอดการละหมาดตะรอเวียะห์จากมัสยิดหะรอม
ณ นครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เป็นต้น
๓. ช่วงหลังเดือนรอมฎอน (ประมาณ 8 วันหลังจากวันอีฎิ้ลฟิตริ)
ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน ร่วมกับองค์กรศาสนาอิสลาม
จัดงานเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีต่อกัน
ในสังคมพหุวัฒนธรรม
๔. แนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความเป็นธรรม
๑) กำชับและชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจทุกจุด
ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เป็นปัญหา อุปสรรค และควรดำเนินการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนกับการปฏิบัติกิจทางศาสนา หากมีเหตุต้องตรวจค้นสตรี ต้องใช้เจ้าหน้าที่สตรีในการ
ตรวจค้นเท่านั้น
๒) สนับสนุนให้แจกจ่ายอาหารละศีลอดแก่ผู้สัญจรผ่านจุดตรวจ เช่น อินทผลัม และน้ำ ตั้งแต่ช่วงเวลา ๑๗.๐๐ น. เป็นต้นไป
๓) ให้จัดระเบียบและกวดขันแหล่งอบายมุขอย่างเข้มงวด เพื่อดำรงไว้ ซึ่งความบริสุทธิ์ของเดือนรอมฎอน
(นายอาศิส พิทักษ์คุมพล)
จุฬาราชมนตรี
ที่มา http://www.skthai.org