วันพุธที่ 22 มกราคม 2568 11:42 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> คุณธรรม จริยธรรม
คุณธรรม จริยธรรม

คุณธรรม จริยธรรม

     “คุณธรรม จริยธรรม” เป็นสิ่งที่เรามักได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ แต่ยิ่งพูดก็ดูเหมือนคุณธรรม จริยธรรม ก็จะยิ่งห่างหายไปจากชีวิตของเรามากขึ้นทุกวัน คุณธรรม จริยธรรม คือ สิ่งที่จะคอยกำกับจิตใจของคนเราให้คิดและทำสิ่งดี ๆ มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่เลวร้ายและเป็นโทษกับผู้อื่น แต่การที่ทุกวันนี้คนเราคิดและทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์ แต่มีโทษกันมากขึ้น สะท้อนว่าคุณธรรม จริยธรรม ในชีวิตผู้คน นับวันจะห่างหายไป เมื่อคุณธรรมจริยธรรมหายไป จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราบ้าง?

 

คุณธรรม จริยธรรม ที่เลือนหายไปจากสังคม ทำให้เราใช้ชีวิตแบบโดดเดี่ยวกันมากขึ้น เพราะในสังคมที่ไร้จริยธรรม เราไม่อาจไว้วางใจใครได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้คนไม่มีอะไรที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงสามารถกระทำการอันขัดแย้งต่อสำนึกจริยธรรมได้โดยไม่รู้สึกละอาย การกบฏ คิดคด ทรยศ หักหลัง หลอกลวง และการเอารัดเอาเปรียบ จึงเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น แม้จะมีกฎหมายบัญญัติโทษ แต่ก็ไม่มีใครเกรงกลัว มิหนำซ้ำหลายครั้งผู้รักษากฎหมายเองที่ทำผิดกฎหมายหรือยอมรับการให้สินบาทคาดสินบนเพื่อแลกกับทรัพย์สินที่ถูกหยิบยื่นให้โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมแต่อย่างใด ในสังคมแบบนี้คนอ่อนแอจึงมีแต่จะถูกเหยียบย่ำ ขณะที่คนทำผิดแต่มีฐานะหรืออำนาจก็จะถูกทำให้พ้นผิดไปจนได้
มุสลิมถูกบัญญัติให้ต่อสู้กับสภาวะเช่นนี้ และถือว่าการต่อสู้กับสภาวะไร้คุณธรรมจริยธรรม คือ ดัชนีตัวหนึ่งที่จะบ่งชี้ถึงความศรัทธาที่มีอยู่ในจิตใจของคนเรา โดยเรียกภารกิจนี้ว่า การส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่ว

“يُؤْمِنُونَ بِاللّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَيُسَارِعُونَ فِي الْخَيْرَاتِ وَأُوْلَـئِكَ مِنَ الصَّالِحِينَ”
(ﺁﻝ ﻋﻤﺭﺍﻥ: 114)

 

“พวกเขาต่างศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันสิ้นโลก พวกเขาร่วมกันส่งเสริมความดี และร่วมกันยับยั้งความชั่ว
อีกทั้งกระตือรือร้นในเรื่องความดี เขาเหล่านี้เองที่เป็นกลุ่มคนดี”
ความศรัทธาต่ออัลลอฮ์และคุณธรรมจริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ศรัทธาที่ไม่ก่อเกิดคุณธรรม ย่อมไม่ใช่ศรัทธาที่แท้จริง และคุณธรรมที่ไม่ได้ยืนอยู่บนความศรัทธาก็จะไม่สามารถยืนหยัดต่อสู้กับความเลวร้ายได้อย่างแน่นอน
คุณธรรมจริยธรรมที่ก่อเกิดจากความศรัทธาต่ออัลลอฮ์จะเป็นตัวบ่งบอกว่าผู้นั้นเป็นมุสลิมอย่างแท้จริง หรืออีกนัยหนึ่ง หากผู้ใดขาดเสียซึ่งคุณธรรมอันแสดงถึงความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ผู้นั้นก็นับว่าสูญเสียลักษณะของผู้ศรัทธาไปแล้วนั่นเอง ดังที่ มหากวี อะห์มัด เชากี กล่าวว่า

“إنما الأمم الأخلاق ما بقيت فإن همو ذهبت أخلاقهم ذهبوا”

 

“อันประชาชาติใดก็แล้วแต่ดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีจริยธรรมค้ำจุน หากประชาชาติใดขาดเสียซึ่งจริยธรรม ประชาชาตินั้นก็สูญสิ้นตัวตนไปแล้ว”
นอกเหนือจากการที่ต้องประพฤติปฏิบัติตนเยี่ยงผู้มีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อธำรงรักษาความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ในหัวใจของตนให้ยั่งยืนแล้ว มุสลิมยังต้องแสดงออกถึงคุณธรรมจริยธรรมในฐานะผู้ที่จะต้องเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าต่อบุคคลหรือกลุ่มชนอื่นด้วย

“اُدْعُ إِلَى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ” (النحل: 125)

 

“จงเรียกร้องเชิญชวนสู่ครรลองแห่งองค์พระผู้อภิบาลของเจ้า โดยใช้วิทยปัญญาและการสั่งสอนอันดีงาม”

 

การเผยแพร่มิได้จำกัดอยู่แต่เนื้อหาทฤษฎีแห่งความศรัทธาของอิสลามเท่านั้น แต่ยังต้องเผยแผ่คุณธรรมจริยธรรมที่อิสลามสั่งสอนด้วย จึงต้องอาศัยการปฏิบัติตนที่แสดงถึงคุณธรรมจริยธรรมในตัวของผู้เผยแผ่เองเป็นสำคัญ เพราะหากตัวผู้เผยแผ่ขาดไร้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรม การเรียกร้องให้ผู้อื่นมีสิ่งนั้นก็ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

“يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لِمَ تَقُولُونَ مَا لا تَفْعَلُونَ * كَبُرَ مَقْتًا عِندَ اللَّهِ أَن تَقُولُوا مَا لا تَفْعَلُونَ” (الصف: 2 – 3)

 

“โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ไฉนพวกเจ้าจึงกล่าวอ้างสิ่งซึ่งพวกเจ้ามิได้กระทำเล่า เป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความพิโรธแก่อัลลอฮ์มาก ในการที่พวกเจ้ากล่าวอ้างสิ่งซึ่งพวกเจ้าเองก็มิได้กระทำ”
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่มุสลิมจักต้องคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมที่อิสลามพร่ำสอน เพราะหากขาดเสียซึ่งคุณธรรมจริยธรรม มุสลิมจะไม่อาจธำรงรักษาอุดมการณ์อิสลามไว้ได้ เนื่องจากจะเกิดความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ตนเองอ้างว่าเชื่อถือศรัทธา ได้แก่ การเชื่อต่ออัลลอฮ์และวันสิ้นโลก กับสิ่งที่ปรากฏจริงในชีวิต ได้แก่ การประพฤติปฏิบัติตนที่สวนทางกับความเชื่อนั้น ที่สุดแล้วการประพฤติจริงก็จะสร้างระบบสังคมขึ้น เป็นระบบสังคมที่จะบั่นทอนความศรัทธาในใจไปเรื่อย ๆ กระทั่งไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ นอกจากคำกล่าวอ้าง ที่ไร้น้ำหนัก ซึ่งยากที่ผู้ใดจะเห็นคล้อยตาม ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ มุสลิมแทนที่จะเป็นผู้มาสร้างความสงบร่มเย็นสมดังเจตนาที่อัลลอฮ์ทรงประทานอิสลามและรอซู้ล (ศาสนทูต) ดังพระดำรัส

“وَمَا أَرْسَلْنَاك إِلَّا رَحْمَة لِلْعَالَمِينَ” (الأنبياء: 107)

 

“เรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่อการอื่นใด แต่เพื่อเป็นเมตตาธรรมแก่จักรวาลทั้งมวล”

 

แทนที่จะเป็นเช่นนั้น การขาดไร้คุณธรรมจริยธรรมจะผลักดันให้มุสลิมร่วมสร้างความเลวร้ายและ ทุกข์ร้อนแก่ผู้คนในสังคมแทน เพราะจะกลายมาเป็นผู้แข่งขันสะสมเศษซากของโลกดุนยา (โลกนี้) ร่วมยื้อแย่งกอบโกยความสุขวูบวาบฉาบฉวยร่วมกับผู้หลงผิด จนในที่สุดก็ทิ้งคำสอนแห่งอัลลอฮ์และทิ้งความสุขที่พึงได้รับในอาคิเราะห์ (โลกหน้า) ไว้เบื้องหลัง

 

ดังนั้น จงอย่าถลำไปในความชั่วร้าย แต่จงสร้างความร่มเย็นแก่สังคมโลก ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักคุณธรรมจริยธรรมที่อัลลอฮ์ทรงสั่งสอน แล้วเราจะประสบความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้าต่อไป

 

************************

สำนักจุฬาราชมนตรี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top