คุฎบะฮ์วันศุกร์
เรื่อง ผู้ศรัทธากับพฤติกรรมการต้อนรับเราะมะฎอน
ผศ.ดร.วิศรุต เลาะวิถี
ألْحَمْدُ ِللهِ الَّذِيْ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَاْلاَرْضَ وَجَعَلَ الظُّلُمَاتِ وَالنُّوْرَ . ثُمَّ الَّذِيْنَ كَفَرُوْا بِرَبِّهِمْ يَعْدِلُوْنَ . وَأَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ بِيَدِهِ مَلَكُوْتُ كُلِّ شَيْءٍ وَ إِلَيْهِ تُرْجَعُوْنَ . وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا رَسُوْلُ اللهِ الَّذِيْ خَتَمَ اللهُ بِهِ النَّبِيِّيْنَ . وَأَنْزَلَ عَلَيْهِ الْقُرْآنَ بَصَائِرَ لِلنَّاسِ وَهُدًى وَرَحْمَةً لِقَوْمٍ يُوْقِنُوْنَ . اَللَّهُمَّ صَلِّ وَسَلِّمْ عَلَى مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَأَصْحَابِهِ وَمَنْ تَبِعَهُمْ بِإِحْسَانٍ إِلَى يَوْمِ يُبْعَثُوْنَ .
أَمَّا بَعْدُ فَيَاعِبَادَ اللهِ . أُوْصِيْكُمْ وَنَفْسِيْ أَوَّلاً بِتَقْوَى اللهِ تَعَالَى وَطَاعَتِهِ . فَقَدْ قَالَ اللهُ تَعَالَى فِي الْقُرْآنِ اْلكَرِيْمِ : قال تعالى: { شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنْزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدىً لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ فَمَنْ شَهِدَ مِنْكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ وَمَنْ كَانَ مَرِيضاً أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِنْ أَيَّامٍ أُخَرَ}
พี่น้อง ผู้มีหัวใจผูกพันกับอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่รักทั้งหลาย
ณ เบื้องต้นนี้ ขออนุญาตย้ำเตือนตนเองและพี่น้องทุกท่าน ให้ยกระดับ “หัวใจ” ของเราสู่ความเปี่ยมล้นด้วย “ตักวา” ซึมซับความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) อย่างยั่งยืน แน่นอน “ตักวา” นั้น เป็นคำภาษาอาหรับสั้น ๆ แต่มีความหมายแฝงเร้นกับการเป็น “มุอ์มิน – ผู้ศรัทธา” อย่างยิ่ง ซึ่งมีนัยตรงตามคำจำกัดความที่ว่า امتثال الاوامر/ واجتناب النواهي
ขอเรียนว่า คำจำกัดความทั้งสองนัยดังกล่าวนั้น หมายถึง การปฏิบัติตนตามบัญชาใช้ และละเว้น ห่างไกลจากบรรดาบัญญัติห้ามตามคำสอนอิสลามโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ คำว่า “ตักวา” ย่อมมีนัยแห่งความหมายสอดคล้องกับสถานภาพของการเป็น “มุอ์มิน – ผู้ศรัทธา” อย่างแนบแน่นและลุ่มลึก เพราะการเป็น “มุอ์มิน – ผู้ศรัทธา” ที่ได้รับการซึมซับและตอกย้ำด้วย “ตักวา”อย่างชัดเจนแล้ว ย่อมจะน้อมนำให้ผู้ศรัทธา ทุกคนได้รับการยกย่องและเชิดชูว่าเป็น “ปูชนียบุคคล” ที่มีเกียรติและประเสริฐยิ่ง ซึ่งสอดรับกับนัยของ อัลกุรอาน ดังนี้
إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ ٱللَّهِ أَتْقَىٰكُمْ
ความว่า “แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า” (อัลฮุจรอต : 13)
พี่น้อง ผู้มีหัวใจเปี่ยมล้นด้วยตักวา ทั้งหลาย
ขณะนี้ เรากำลังอยู่ในช่วงก้าวย่างของ “เราะมะฎอน” เดือนอันมหาประเสริฐยิ่งของปฏิทินฮิจญเราะฮ์ศักราช “เราะมะฎอน” เป็นเดือนที่ 9 ตามการนับเดือนของอาหรับ ซึ่งนับตามระบบจันทรคติ อิสลามให้ความสำคัญกับเดือนเราะมะฎอน และถือว่าเป็นเดือนที่มีความประเสริฐมากกว่าเดือนอื่น ๆ เนื่องจากเป็นเดือนที่คัมภีร์อัลกุรอานได้รับการประทานลงมาสู่มนุษยชาติ และเป็นเดือนที่อัลลอฮ์ (ซุบฯ) ทรงกำหนดให้มุสลิมถือศีลอดอีกด้วย
ดังนั้น การก้าวย่างมาถึงของ “เราะมะฎอน” ณ วาระนี้ จึงเป็นประเด็นที่จะจุดความคิดทุกคนว่า เราจะต้อนรับ “เราะมะฎอน” กันอย่างไร เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชมยินดีและถือเป็นการได้รับความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมีพฤติกรรมที่ผู้ศรัทธาควรแสดงออก ดังต่อไปนี้
- الدعاء (อัดดุอาอ์)
การขอดุอาอ์ต่ออัลลอ์ (ซุบฯ) ให้มีชีวิตและสามารถปฏิบัติอิบาดะฮ์ในเดือนเราะมะฎอน ณ วาระอันใกล้นี้ ถือเป็นพฤติกรรมอันประเสริฐของผู้ศรัทธา ประกอบกับมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ และมี ความพร้อมสู่การบำเพ็ญศีล ผู้ศรัทธาควรขอดุอาอ์ตามนัยแห่งฮะดีษ ดังนี้
كانَ رسولُ اللَّهِ صلَّى اللَّهُ عليهِ وسلَّمَ إذا دخَلَ رجبٌ قالَ : اللَّهمَّ بارِكْ لَنا في رجَبٍ وشعبانَ ، وبلِّغنا رمضانَ
ความว่า “ท่านเราะซูลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ขอดุอาอ์เมื่อเดือนเราะยับเริ่มต้นขึ้น โดยกล่าวว่า: ข้าแด่อัลลอฮ์ ขอให้เรามีความจำเริญในเดือนเราะยับและเดือนชะอ์บาน และขอให้เราบรรลุสู่เดือนเราะมะฎอนด้วยเถิด”
นอกจากนี้ บรรดาสะละฟุศศอและฮ์ (บรรพชนผู้มีคุณธรรมสูง) มักจะขอดุอาอ์เป็นเวลาหลายเดือน ก่อนการมาถึงของเดือนเราะมะฎอน เพื่อจะได้บรรลุสู่เดือนเราะมะฎอน และเพื่อให้อัลลอฮ์ (ซุบฯ) ตอบรับ คุณความดีงามทั้งปวง
- الشكر (อัชชุกร์)
ในฐานะผู้ศรัทธา ควรต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่อัลลอฮ์ (ซุบฯ) ทรงโปรดประทานชีวิตและสุขภาพที่ดีจนมีโอกาสเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนและสามารถปฏิบัติอิบาดะฮ์อีกวาระหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเกียรติยศอันล้ำค่าที่ได้รับโอกาสในการปฏิบัติคุณงามความดีในเดือนอันประเสริฐนี้
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์กล่าวว่า “พึงทราบว่า เป็นสิ่งที่ชอบให้พึงปฏิบัติสำหรับทุกคน เมื่อได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ ให้สุญูดเพื่อแสดงการขอบคุณต่อพระองค์หรือสรรเสริญพระองค์”
ยิ่งกว่านั้น การที่เราได้รับโอกาสถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนอีกวาระหนึ่งนั้น ย่อมถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่ควรกล่าวคำขอบคุณต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) ด้วยการปฏิบัติตนกับเนี๊ยะมัตครั้งนี้ นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเราได้รับความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ในเดือนเราะมะฎอนด้วยการถือศีลอด จึงต้องปิดท้ายด้วยการขอบคุณต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) ทั้งนี้ ท่านอิบนุ ตัยมียะฮ์ กล่าวว่า “การขอบคุณสามารถปฏิบัติได้ด้วยหัวใจ ลิ้น และร่ายกาย”
- السرور (อัซซุรูร)
ผู้ศรัทธาควรต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยการแสดงความยินดี ความปลื้มใจ ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวเมื่อใกล้ถึงเดือนเราะมะฎอน ดังนี้
(جَاءَكُمْ رَمَضَانُ ، جَاءَكُمْ شَهْرٌ مُبَارَكٌ ، افْتَرَضَ اللَّهُ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ ، تُفْتَحُ فِيهِ أَبْوَابُ الْجِنَانِ ، وَتُغْلَقُ فِيهِ أَبْوَابُ الْجَحِيمِ ، “
ความว่า “เดือนเราะมะฎอนมายังพวกท่านแล้ว เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่มีความจำเริญยิ่ง อัลลอฮ์ทรงบัญญัติให้พวกท่านถือศีลอดในเดือนนี้ ประตูสวรรค์จะถูกเปิด และประตูนรกจะถูกปิด” (บันทึกโดย อิหม่ามอะห์มัด)
ทั้งนี้ บรรดาอัสสะละฟุศศอและฮ์ (บรรพชนผู้มีคุณธรรมสูง) จะแสดงความดีใจและให้ความสำคัญกับการต้อนรับเดือนเราะมะฎอน เพราะเป็นสัญลักษณ์ของผู้ศรัทธาที่จะแสดงออกถึงความปิติยินดี เพื่อการปฏิบัติคุณงามความดี อันเป็นเส้นทางสู่ความเมตตาของพระองค์เป็นสำคัญ
- التخطيط (อัตตัคฏีต)
ผู้ศรัทธาควรต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยการวางแผน และตั้งปณิธานการรับคุณประโยชน์และกุศลผลบุญให้มากเท่าที่จะปฏิบัติได้ เพราะประชาคมแห่งอาคิเราะฮ์นั้น จะมีการวางแผนชีวิตเพื่อโลกหน้า เฉกเช่นกับประชาคมแห่งดุนยาก็มักจะวางแผนชีวิตเพื่อโลกนี้เช่นเดียวกัน
ขออ้างอิงตัวอย่างในการวางแผนชีวิตในช่วงเดือนเราะมะฎอน คือ การจัดทำตารางแห่งอิบาดะฮ์ โดยการทำความดี เช่น อ่านอัลกุรอาน ปฏิบัติละหมาดสุนัตต่าง ๆ นอกจากละหมาดฟัรดู ซิกรุ้ลลอฮ์ การทำทาน (เศาะดาเกาะฮ์) และการเอียะติกาฟ (พำนักที่มัสยิด) เพื่อให้มีระบบการบริหารเวลาแห่งเดือนเราะมะฎอนที่มีคุณค่าอย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดประสิทธิผลมากที่สุด
- العلم (อัลอิลม์)
ผู้ศรัทธาควรต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยการศึกษา การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการถือศีลอด และวิทยาการที่เกี่ยวกับเดือนเราะมะฎอน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การปฏิบัติอิบาดะฮ์อย่างถูกต้อง เพราะเราถูกใช้ให้ถามผู้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ ดังนั้น ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องเอาใจใส่แสวงหาความรู้เกี่ยวกับ เรื่องนี้ และอย่าถือว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ เพราะผลกระทบจากการที่ไม่รู้ หรือไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักการถือศีลอด การปฏิบัติตนในช่วงเดือนเราะมะฎอน อาจก่อให้เกิดการสูญเสียผลบุญที่ควรมุ่งมั่นแสวงหาได้ นั่นคือ ทำให้เราอาจประสบภาวะขาดทุนหรือเสียคุณประโยชน์อย่างน่าเสียดายหรือโดยไม่รู้ตัว
- التوبة (อัตเตาบะฮ์)
ผู้ศรัทธาควรต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยความตั้งปณิธานที่จะทำตัวให้ห่างไกล หรือละทิ้งความผิด ทุกชนิด และขอลุแก่โทษ หรือกลับเนื้อกลับตัวด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะผู้ศรัทธาทุกคนมีหน้าที่ต้องเตาบะฮ์ ขอลุแก่โทษ (กลับเนื้อกลับตัว) ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อกาลแห่งเดือนเราะมะฎอนมาถึง ก็จะเป็นโอกาสทองที่เราต้องเตาบะฮ์ตัวเอง เพราะหากไม่สามารถขอลุแก่โทษ หรือกลับเนื้อกลับตัวในเดือนเราะมะฎอนแล้ว ย่อมไม่มีวันและเวลาใดที่จะสามารถขอลุแก่โทษหรือกลับเนื้อกลับตัวได้อีก เรื่องนี้ อัลลอฮ์ (ซุบฯ) ตรัสว่า
وَتُوبُوا إِلَى اللَّهِ جَمِيعاً أَيُّهَا الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ
ความว่า “และพวกเจ้าทั้งหลาย จงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮ์เถิด โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ” (อันนูร : 31)
- الصفحة البيضاء (อัสศ็อฟฮะตุ้นบัยฎออ์)
ผู้ศรัทธาควรต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยชีวิตใหม่อันขาวบริสุทธิ์ และปราศจากมลทิน โดยตั้งปณิธานมุ่งมั่นสู่อัลลอฮ์ (ซุบฯ) เพื่อการปฏิบัติตนในฐานะเป็นบ่าวของพระองค์ และเป็นอุมมะฮ์ (ประชาคม) แห่งเราะซูลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ) โดยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ยืนหยัดในแนวทางของท่านเป็นฐานแห่งชีวิต เพื่อปรับจูนชีวิตและจิตวิญญาณในเดือนเราะมะฎอนที่กำลังก้าวย่างมา ณ วาระนี้
พี่น้อง ผู้มีหัวใจต้อนรับเดือนเราะมะฎอน ที่รักทั้งหลาย
บทสรุปสำหรับคุฏบะฮ์ในวันนี้ มีดังนี้
- การต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยหัวใจที่เปี่ยมล้นแห่งความปิติยินดี และปรีดาปราโมทย์นั้น ถือเป็นคุณลักษณะหนึ่งของผู้ศรัทธา
- ส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการต้อนรับเดือนเราะมะฎอนในวิสัยของผู้ศรัทธา ได้แก่ การขอดุอาอ์สู่การบรรลุถึงเดือนเราะมะฎอน การแสดงความขอบคุณ การแสดงความยินดี การวางแผนยุทธศาสตร์ความดี การใฝ่เรียนรู้ศาสตร์แห่งเดือนเราะมะฎอน การกลับเนื้อกลับตัว และการเตรียมสร้างชีวิตใหม่อันบริสุทธิ์แห่งเดือนเราะมะฎอน เป็นต้น
- การบ่มเพาะหัวใจให้มีตักวาตามคำสอนอิสลามนั้น ล้วนมุ่งเน้นให้ผู้ศรัทธาเตรียมตนสู่การซึมซับ อิบาดะฮ์ในเดือนเราะมะฎอน ถือเป็นการยกระดับความยำเกรง – ตักวา อย่างมีคุณค่ายิ่ง
أَقُوْلُ قَوْلِيْ هَذَا وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ لِيْ وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمٍيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتِ فَاسْتَغْفِرُوْهُ إِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ