คุตบะฮ์วันศุกร์
เรื่อง บททดสอบ : แบบประเมินชีวิตผู้ศรัทธา
ผศ.ดร. วิศรุต เลาะวิถี
إِنّ الْحَمْدَ للهِ نَحْمَدُهُ وَنَسْتَعِيْنُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ وَنَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ شُرُوْرِ أَنْفُسِنَا وَسَيّئَاتِ أَعْمَالِنَا مَنْ يَهْدِهِ اللهُ فَلاَ مُضِلّ لَهُ وَمَنْ يُضْلِلْهُ فَلاَ هَادِيَ لَهُ اَلْحَمْدُ ِللهِ رَبِ الْعَالَمِيْنَ القَائِلُ : [قُلْ اِنَّ الْمَوْتَ الَّذِيْ تَفِرُّوْنَ مِنْهُ فَاِنَّهٗ مُلٰقِيْكُمْ ثُمَّ تُرَدُّوْنَ اِلٰى عَالِمِ الْغَيْبِ وَالشَّهَادَةِ فَيُنَبِّئُكُمْ بِمَا كُنْتُمْ تَعْمَلُوْنَ] أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلهَ إِلاّ اللهُ وَأَشْهَدُ أَنّ مُحَمّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ
صَلَّى اللهُ عَلَى أَشْرَفِ الأَنْبِيَاءِ وَالْمُرْسَلِيْنَ نَبِيِّنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَأَصْحَابِهِ وَمَنْ سَارَ عَلَى نَهْجِهِ القَوِيْمِ وَدَعَا إِلَى الصِّرَاطِ المُسْتَقِيْمِ إِلَى يَوْمِ الدِّيْنِ وَسَلَّمَ تَسْلِيْمًا كَثِيْرًا
أَمَا بَعْدُ فَيَا عِبَادَ اللهِ أُوْصِيْكُمْ وَإِيَّايَ َنفْسِي بِتَقْوَى اللهِ حَقَّ تُقَاتِهِ فَقَدْ فَازَ الْمُتَّقُوْنَ
พี่น้อง ผู้มีหัวใจผูกพันกับอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่รักทั้งหลาย
ณ เบื้องต้นนี้ ขออนุญาตย้ำเตือนตนเองและพี่น้องทุกท่าน ให้ยกระดับ “หัวใจ” ของเราสู่ความ เปี่ยมล้นด้วย “ตักวา” ซึมซับความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) อย่างยั่งยืน แน่นอน “ตักวา” นั้น เป็นคำภาษาอาหรับสั้น ๆ แต่มีความหมายแฝงเร้นกับการเป็น “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” อย่างยิ่ง ซึ่งมีนัยตรงตามคำจำกัดความที่ว่า امتثال الاوامر/ واجتناب النواهي
แน่นอน คำจำกัดความทั้งสองนัยดังกล่าวนั้น หมายถึง การปฏิบัติตนตามบัญชาใช้ และละเว้น ห่างไกลจากบรรดาบัญญัติห้ามตามคำสอนอิสลามโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ขอเรียนว่า “ตักวา” นั้น มีนัยแห่งความหมายสอดคล้องกับสถานภาพของการเป็น “มุอ์มิน – ผู้ศรัทธา” อย่างแนบแน่นและลุ่มลึก เพราะการเป็น “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” ที่ได้รับการซึมซับ ตอกย้ำด้วย “ตักวา”อย่างชัดเจนแล้ว ย่อมจะน้อมนำผู้ศรัททุกคน ให้ได้รับการยกย่องและเชิดชูว่าเป็น “ปูชนียบุคคล” ที่มีเกียรติและประเสริฐยิ่ง ซึ่งสอดรับกับนัยของอัลกุรอาน ดังนี้
إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ ٱللَّهِ أَتْقَىٰكُمْ
ความว่า “แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่ พวกเจ้า” (อัลฮุจรอต : 13)
พี่น้อง ผู้มีหัวใจเปี่ยมล้นด้วยตักวา ทั้งหลาย
ทุกท่านทราบเป็นอย่างดีว่า การมีชีวิตในโลกนี้ เถือป็นโลกแห่งการทดสอบอย่างแท้จริง อัลลอฮ์ (ซุบฯ) ได้ทดสอบผู้ศรัทธาในทุกมิติ ทั้งในขณะที่มีความความสุข และการได้รับความทุกข์ หรือความเดือดร้อนที่มาประสบกับเรา ซึ่งล้วนเป็นการทดสอบที่จะแสดงออกในเชิงพฤติกรรมว่า บุคคลนั้นจะสามารถดำรงชีวิต ในฐานะ “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” ได้สมฐานะหรือไม่
ดังนั้น การมีสุขภาพดี หรือการประกอบธุรกิจจนร่ำรวย และมีปัจจัยแวดล้อมสมบูรณ์ บุคคลเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตและบริหารจัดการทรัพย์สิน เงินทองสอดรับกับคำสอนอิสลามหรือไม่ อย่างไร นี่คือบททดสอบกับผู้ที่มีความสุขจากการมีสุขภาพที่ดีและมั่งมีศรีสุข ส่วนบางคนที่ได้รับการทดสอบ โดยได้รับอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือมีโรคภัยรุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นส่วนตัว หรือเกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวก็ตาม บุคคลนั้นจะแสดงออกด้วยการใช้ชีวิตอย่างไร หรือแสดงวาจาโวยวาย ตีโพย ตีพาย ว้าวุ่น หรือกลับใช้ชีวิตลงเหวสู่ความหายนะจนครองตนเองและครอบคัวไม่ได้ กล่าวคือ เขากำลังได้รับการทดสอบจากอัลออฮ์ (ซุบฯ) องค์พระผู้เป็นเจ้า ในมิติของการได้รับความทุกข์ หรือภัยบะลาอ์ นั่นเอง
จากนัยแห่งปรากฎการณ์ดังกล่าว อัลลอฮ์ (ซุบฯ) ตรัสว่า
﴿وَلَنَبۡلُوَنَّكُم بِشَيۡءٖ مِّنَ ٱلۡخَوۡفِ وَٱلۡجُوعِ وَنَقۡصٖ مِّنَ ٱلۡأَمۡوَٰلِ وَٱلۡأَنفُسِ وَٱلثَّمَرَٰتِۗ وَبَشِّرِ ٱلصَّٰبِرِينَ ١٥٥ ٱلَّذِينَ إِذَآ أَصَٰبَتۡهُم مُّصِيبَةٞ قَالُوٓاْ إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّآ إِلَيۡهِ رَٰجِعُونَ ١٥٦ أُوْلَٰٓئِكَ عَلَيۡهِمۡ صَلَوَٰتٞ مِّن رَّبِّهِمۡ وَرَحۡمَةٞۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُهۡتَدُونَ ١٥٧﴾ [البقرة : 155- 157]
ความว่า “และแน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยเพียงเล็กน้อย จากความหวาดกลัว ความหิวโหย และด้วยการสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง จากทรัพย์สิน ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่ผู้อดทนเถิด คือ บรรดาผู้ที่ลั่นวาจา เมื่อประสบเคราะห์กรรมว่า แท้จริง เราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และแน่นอน เราจะกลับไปยังพระองค์ ชนเหล่านี้ พวกเขาจะได้รับคำชมเชยและการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขา และ ชนเหล่านี้คือ ผู้ที่ได้รับทางนำ” ( อัล-บะเกาะเราะฮ์ : 155-157 )
ขอเรียนเพิ่มเติมว่า การที่ “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” จะประสบกับปัญหา อุปสรรคใด ๆ นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” สามารถทำใจได้ และกระทำในสิ่งที่ไม่ขัดกับหลักการศาสนา นั่นคือกำไรอันยิ่ง ที่บุคคลนั้นจะได้รับในชีวิตของเขา
ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) ได้กำชับแก่อุมมะฮ์-ประชาคมของท่านว่า
إن عِظَمَ الجزاءِ مع عِظَمِ البلاءِ، وإن اللهَ – عز وجل – إذا أَحَبَّ قومًا ابتلاهم ؛ فمن رَضِيَ فله الرِّضَى، ومن سَخِطَ فله السُّخْطُ رواه الترمذي
ความว่า “ผลบุญที่ยิ่งใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับการทดสอบอันใหญ่หลวง (การทดสอบยิ่งหนักหน่วงเท่าใด ผลบุญก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น) และแท้จริง หากอัลลอฮ์ทรงรักบุคคลใด พระองค์ก็จะทรงทดสอบพวกเขา และบุคคล ที่มีความพอใจ เขาก็จะได้รับความพอใจ ส่วนคนที่จะไม่สบายใจหรือแสดงความไม่พอใจต่อการทดสอบนั้น เขาก็จะได้รับความไม่สบายใจ” (บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)
ยิ่งกว่านั้น การ “ทำใจ” หมายถึง การปรับความรู้สึกของเราต่อการทดสอบต่าง ๆ กล่าวคือ เราเจ็บป่วย หรือประสบกับมุศีบะฮ์ใด ๆ เราแสดงพฤติกรรมที่สอดรับกับหลักธรรม คำสอนของอิสลาม โดยไม่ตีโพย ตีพาย หรือประพฤติปฏิบัติตนสวนกับคำสอนอิสลาม ทั้งนี้ หลักการอิสลาม สอนให้เรามีความตระหนักรู้ว่า “มุศีบะฮ์” ทุกชนิดเป็นกำไรมหาศาลสำหรับผู้ที่ประสงค์จะชำระความผิดของเขา เพื่อมุ่งหวังที่จะได้รับการอภัยโทษและความเมตตาจากอัลลอฮ์ (ซุบฯ) ในที่สุด
พี่น้อง ผู้ได้รับการทดสอบในชีวิต ทั้งหลาย
เราคงไม่ปฏิเสธว่า ทุกวันนี้ แต่ละคนได้รับการทดสอบในชีวิตมาก-น้อยแตกต่างกัน ปริมาณของบททดสอบที่เราประสบ ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ถึงระดับอีหม่าน-ศรัทธาที่แต่ละคนพึงมีต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) เป็นสำคัญ ดังปรากฎข้อมูลตามที่ สะอัด บิน อบีวักกอศ เราะยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า
قُلْتُ: يَا رَسُولَ اللَّهِ أَيُّ النَّاسِ أَشَدُّ بَلَاءً؟ قَالَ: «الْأَنْبِيَاءُ، ثُمَّ الْأَمْثَلُ فَالْأَمْثَلُ، فَيُبْتَلَى الرَّجُلُ عَلَى حَسَبِ دِينِهِ، فَإِنْ كَانَ دِينُهُ صُلْبًا اشْتَدَّ بَلَاؤُهُ، وَإِنْ كَانَ فِي دِينِهِ رِقَّةٌ ابْتُلِيَ عَلَى حَسَبِ دِينِهِ، فَمَا يَبْرَحُ الْبَلَاءُ بِالْعَبْدِ حَتَّى يَتْرُكَهُ يَمْشِي عَلَى الْأَرْضِ مَا عَلَيْهِ خَطِيئَةٌ» [رواه الترمذي برقم 2398]
ความว่า “ฉันถามท่านเราะซูล (ศ็อล ฯ) ถึงผู้ที่ถูกทดสอบจากอัลลอฮ์มากที่สุดว่าเป็นใคร? ท่านตอบว่า “คือ บรรดานบี ถัดมาก็เป็นผู้ที่มีสถานะที่ใกล้เคียงกับบรรดานบี ถัดมาตามลำดับ คนหนึ่งจะได้รับการทดสอบขึ้นอยู่กับความเคร่งครัดต่อศาสนาของเขา หากเขาเคร่งครัดมากจะถูกทดสอบมากกว่าผู้ที่ไม่เคร่งครัด การทดสอบจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งความผิดได้ถูกลบล้างจนหมดไปจากตัวเขา” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ หมายเลข : 2398)
นอกจากนี้ มีเรื่องเล่าสำคัญเรื่องหนึ่ง ขอนำเสนอเพื่อเติมเต็มเกี่ยวกับบททดสอบสำหรับ “มุอ์มิน- ผู้ศรัทธา” กล่าวคือ มีชายคนหนึ่งถามท่านอิหม่ามชาฟิอีว่า “ท่านอบู อับดุลลอฮ์ ระหว่างคนมีความสุขที่รู้จักบุญคุณกับคนที่ถูกทดสอบแล้วอดทน ใครมีความประเสริฐมากกว่ากัน?” ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ตอบว่า เขาจะยังไม่มีความสุขจนกว่าจะถูกทดสอบ แท้จริง อัลลอฮ์ได้ทดสอบนบีนูห์ นบีอิบรอฮีม และนบีมุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) เมื่อพวกเขาต่างมีความอดทน อัลลอฮ์ให้พวกเขาอยู่อย่างมีความสุข ใครคนหนึ่งอย่าได้คิดว่า เขาจะรอดพ้นจากความเจ็บปวดได้” (อัล-ฟะวาอิด ของอิบนุล-ก็อยยิม หน้า : 298)
ดังนั้น การทดสอบที่ประสบกับ “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” จึงถือเป็นการลบล้างความผิดแก่บุคคลนั้น โดยถือเป็นการยกสถานภาพให้สูงขึ้น สู่การเป็นผู้ที่จำแนกสิ่งที่เป็นความดีและความชั่วได้อย่างชัดเจน
ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) กล่าวอีกว่า
مَنْ يُرِدِ اللَّهُ بِهِ خَيْرًا يُصِبْ مِنْهُ، رواه البخاري
ความว่า “ผู้ใดที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะให้เขาได้รับความดีงามแล้ว พระองค์จะทรงทดสอบเขา” (บันทึกโดยบุคอรีย์ หมายเลข : 5645)
พี่น้อง ผู้พร้อมรับการทดสอบ ทั้งหลาย
คำว่า “มุศีบะฮ์” หรือบททดสอบในชีวิตคือ บุคคลที่อัลลอฮ์ (ซุบฯ) ทรงโปรดเมตตาเขา หรืออีกนัยหนึ่ง การได้รับ “มุศีบะฮ์” แม้จะเป็นการลงโทษจากภัยพิบัติ (บะลาอ์) ถือเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายว่า เรากำลังได้รับการชำระความผิด เพื่อทำความสะอาดหรือลบล้างความผิดต่าง ๆ ให้มลายหายสิ้นหรือ ลดจำนวนความผิดจากชีวิตของเรานั่นเอง
ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวประเด็นนี้ว่า
ما يُصِيبُ المُسْلِمَ، مِن نَصَبٍ ولَا وصَبٍ، ولَا هَمٍّ ولَا حُزْنٍ ولَا أذًى ولَا غَمٍّ، حتَّى الشَّوْكَةِ يُشَاكُهَا، إلَّا كَفَّرَ اللَّهُ بهَا مِن خَطَايَاهُ رواه البخاري ومسلم
ความว่า “มุสลิมจะไม่ได้รับความยากลำบาก ความเจ็บป่วย ความเศร้าโศก การถูกทำร้าย หรือความเศร้าโศก แม้กระทั่งหนามที่จะทิ่มตำ แต่อัลลอฮ์จะทรงลบล้างความผิดต่าง ๆ เป็นการชำระ ให้อภัยโทษจากความผิดต่าง ๆ ที่กระทำในอดีต” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม)
พี่น้องที่รักทั้งหลาย
บทสรุปสำหรับคุตบะฮ์ในวันนี้ คือ
- การมีความสุขจากความร่ำรวย หรือมั่งมีศรีสุข และมีความทุกข์จากความยากจน แร้นแค้น ล้วนเป็นบททดสอบของผู้ศรัทธาว่า บุคคลนั้นมีอีหม่าน-ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) ระดับใด และรู้จักปรับปรุงการดำเนินชีวิตให้อยู่ในครรลองธรรมของอิสลามมากน้อยเพียงใด
- การมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง สมบูรณ์ และการได้รับโรคภัย เจ็บป่วย หรือภัยบะลาอ์ในรูปแบบ ต่าง ๆ ถือเป็นบททดสอบอีกบทหนึ่งสำหรับ “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” ว่า “หัวใจ” ของบุคคลนั้น มีความผูกพันหรือพึงรำลึกถึงอัลลอฮ์ (ซุบฯ) หรือไม่ อย่างไร
- การใช้ชีวิตให้ซึมซับด้วยความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) อย่างยั่งยืนนั้น จะเป็นสะพานเชื่อมทำให้ชีวิตของ “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” ผ่านบททดสอบทุกรูปแบบ ณ โลกดุนยานี้ได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย – อินชาอัลลลอฮ์
أَقُوْلُ قَوْلِيْ هَذَا وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ لِيْ وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمٍيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتِ فَاسْتَغْفِرُوْهُ إِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ