วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2567 13:27 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> บทความจากวิทยากร >> อุดฮียะฮ์ (สัตว์กุรบาน)
อุดฮียะฮ์ (สัตว์กุรบาน)

อุดฮียะฮ์ (สัตว์กุรบาน)

อุดฮียะฮ์ (สัตว์กุรบาน)

อาจารย์อรุณ บุญชม

ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร

อุดฮียะฮ์ : คือสัตว์จำพวก อูฐ วัว ควาย แพะ หรือแกะที่ถูกเชือดเพื่อพลีเป็นทาน เป็นการนำตนเข้าใกล้ชิดอัลลอฮ์ ตะอาลา ในวันอีดิ้ลอัฎฮาและอีกสามวันหลังจากนั้น

หลักฐานในการบัญญัติเรื่องอุดฮียะห์นั้นก็คือ คำดำรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่ว่า

 “ดังนั้นเจ้าจงละหมาด (อีด) เพื่อองค์อภิบาลของเจ้าและจงเชือด (สัตว์)” (อัลเกาซัร : 2)

ความหมายของคำว่าเชือดในทรรศนะของนักวิชาการที่ถูกต้องที่สุดนั้นคือ เชือดสัตว์ อุดฮียะห์หรือเชือดสัตว์กุรบาน

และหะดีษที่บุคอรี และมุสลิม  ได้รายงานว่า

 “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เชือดสัตว์อุดฮียะห์เป็นแกะสองตัวสีเทามีเขา ท่านได้เชือดมันทั้งสองด้วยมือของท่านเอง ท่านได้วางเท้าของท่านลงบนข้างต้นคอของมันทั้งสอง แล้วท่านกล่าวบิสมิลลาฮฺฯ และกล่าวตักบีร”

ฮิกมะห์ในการบัญญัติเรื่องอุดฮียะห์ :

สิ่งที่ควรทราบก็คือ อุดฮียะห์ นั้นเป็นอิบาดะห์ และนอกจากการเชือดอุดฮียะห์จะเป็นการยอมจำนนต่อคำบัญชาของอัลลอฮ์ ตะอาลา ในความหมายของความเป็น “บ่าว” แล้ว ในอุดฮียะห์นี้ก็ยังมีฮิกมะห์และประโยชน์อื่นๆ อีก

ความหมายที่ชัดเจนและยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับอุดฮียะห์ก็คือ เป็นการฟื้นฟูความหมายของการเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่ท่านนะบีอิบรอฮีม (อะลัยฮิสสลาม) ได้กระทำไว้ขณะที่อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงทดสอบท่านนะบีอิบรอฮีม โดยมีบัญชาให้เชือดบุตรชายของตนคืออิสมาอีล และต่อมาอัลลอฮ์ก็ได้ไถ่ตัวบุตรชายของเขาด้วยแกะที่พระองค์ได้ประทานลงมา และมีคำสั่งให้เชือดแกะตัวนั้นแทนบุตรชาย หลังจากท่านนะบีอิบรอฮีมและบุตรชายได้พยายามปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ให้เป็นความจริงอย่างถึงที่สุดแล้ว

และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เป็นความเอื้อเฟื้อแก่คนยากไร้และคนที่ขัดสน ทำให้คนในครอบครัวมีความดีใจและปีติยินดีในวันอีด และเป็นการเสริมสร้างความผูกพันระหว่างสมาชิกในสังคมมุสลิมให้เกิดความมั่นคงแน่นเหนียว

ข้อกำหนด (ฮุกุ่ม) ของอุดฮียะห์ :

อุดฮียะห์เป็นสุนัตมุอักกะดะห์ แต่อาจกลายเป็นวาญิบได้ด้วยสาเหตุสองประการคือ :

หนึ่ง : การที่บุคคลหนึ่ง ชี้ไปที่สัตว์ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของเขาซึ่งเป็นสัตว์ที่ใช้ทำอุดฮียะห์ได้ แล้วกล่าวว่า : นี่คืออุดฮียะห์ของฉันหรือกล่าวว่า : ฉันจะใช้สัตว์นี้ทำอุดฮียะห์ เป็นต้น ดังนั้นเขาก็จำเป็น (วาญิบ) ต้องเชือดสัตว์นั้นทำอุดฮียะห์

สอง : บนบาน (นะซัร) ว่าจะทำอุดฮียะห์ เช่น กล่าวว่า : ข้าพเจ้าทำอุดฮียะห์เพื่ออัลลอฮ์ก็จะกลายเป็นวาญิบเหนือเขา เช่นเดียวกับการบนบาน (นะซัร) ในอิบาดะห์อื่น ๆ

ใครที่ถูกกำหนดให้ทำอุดฮียะห์ :

อุดฮียะห์เป็นสุนัตแก่ผู้ที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครบถ้วน :

  1. อิสลามดังนั้นผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม จึงไม่ถูกกำหนดให้ทำอุดฮียะห์
  2. บรรลุศาสนภาวะและมีสติปัญญาดังนั้นผู้ที่ไม่บรรลุศาสนภาวะและผู้ที่ขาดสติจึงไม่ถูกกำหนดให้ทำอุดฮียะห์
  3. มีความสามารถและที่จะเรียกว่าเป็นผู้มีความสามารถก็คือ มีทรัพย์สินที่จะซื้อสัตว์อุดฮียะห์เกินกว่าค่าใช้จ่ายของตนและค่าใช้จ่ายของผู้ที่ตนรับผิดชอบ ทั้งที่เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่พักอาศัยในช่วงวันอีดิ้ลอัฎฮา และวันตัชรีกทั้งสาม

สัตว์ที่ใช้ทำอุดฮียะห์

สัตว์ที่ใช้ทำอุดฮียะห์ได้นั้นต้องเป็น อูฐ หรือ วัว หรือ แกะ หรือ แพะ เพราะอัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงตรัสไว้มีความหมายว่า :

 “และสำหรับทุกประชาชาตินั้น เราได้กำหนดศาสนพิธีไว้แล้ว เพื่อให้พวกเขากล่าวนามของอัลลอฮ์เหนือสิ่งที่พระองค์ได้ประทานเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา จากจำพวกปศุสัตว์” (อัลฮัจย์ : 34)

และคำว่าปศุสัตว์นั้นก็ไม่พ้นไปจากสัตว์ทั้งสามจำพวกที่กล่าวมาแล้วนั้น และเพราะไม่เคยมีผู้ใดรายงานจากท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และศ่อฮาบะห์ของท่านว่าได้ทำอุดฮียะห์ด้วยสัตว์อื่น

และสัตว์ที่ดีที่สุดในการทำอุดฮียะห์ก็คือ อูฐ รองลงมาได้แก่ วัว และรองลงมาก็ได้แก่ แพะ แกะ

(ส่วนควายนั้นนักวิชาการกล่าวว่าใช้ทำอุฮียะห์ได้เพราะควายเป็นวัวชนิดหนึ่งหรือเทียบเคียงกับวัว. จากหนังสืออัลเมาซูอะห์ อัลกุวัยตียะห์)

อนุญาตให้ใช้อูฐและวัวหนึ่งตัว ทำอุดฮียะห์ได้เจ็ดคน . มุสลิม ได้รายงานจาก ญาบิร (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้กล่าวว่า : “เราได้เชือดพร้อมกับท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ในปีฮุดัยปียะห์ อูฐหนึ่งตัวแก่เจ็ดคน และวัวหนึ่งตัวแก่เจ็ดคน”

เงื่อนไขอุดฮียะห์ :

อายุ : อูฐต้องมีอายุย่างเข้าปีที่หก วัวและแพะต้องมีอายุย่างเข้าปีที่สาม ส่วนเงื่อนไขของแกะนั้นต้องมีอายุย่างเข้าปีที่สอง หรือฟันหน้าร่วงคือผลัดฟันหน้า แม้อายุยังไม่ถึงกำหนดก็ตาม

ต้องสมบูรณ์ : เป็นเงื่อนไขของสัตว์ทั้งสามประเภทที่กล่าวมาแล้วว่า : ต้องปลอดจากตำหนิต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้เนื้อลดน้อยลง ดังนั้นแกะที่ผอม คือไม่มีไขมันเลยเนื่องจากผอมมาก และสัตว์ที่ขากะเผลกหรือตาบอด หรือเป็นโรค หูแหว่ง จึงใช้ทำอุดฮียะห์ไม่ได้

เวลาเชือดอุดฮียะห์ :

เวลา เชือดอุดฮียะห์ เริ่มตั้งแต่ตะวันขึ้นในวันอีดิ้ลอัฎฮา และผ่านไปช่วงหนึ่งที่พอจะละหมาดสองรอกาอัตและสองคุตบะห์ได้ เวลาการเชือดอุดฮียะห์นี้จะยังคงอยู่เรื่อยไปจนถึงตะวันตกในวันสุดท้ายของวัน ตัชรีก วันตัชรีกคือวันที่สิบเอ็ด สิบสอง และสิบสามของเดือนซุ้ลฮิจยะห์

เวลาที่ดีเลิศสำหรับการเชือดอุดฮียะห์คือภายหลังละหมาดอีด

จะปฏิบัติอย่างไรกับอุดฮียะห์ ภายหลังจากเชือดแล้ว :

ถ้าหากอุดฮียะห์นั้นเป็นวาญิบ : โดยการบนบาน (นะซัร) ไว้ หรือโดยการระบุแน่นอนว่าสัตว์ตัวนี้จะทำอุดฮียะห์  จะไม่อนุญาตให้ผู้ทำอุดฮียะห์ และคนใดในครอบครัวของเขาที่เขาจำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูให้ รับประทานอุดฮียะห์นั้น ถ้าหากผู้ใดรับประทานส่วนหนึ่งของอุดฮียะห์ ก็จะต้องถูกปรับเท่ากับที่รับประทานไปหรือถูกปรับเป็นราคา

และถ้าหากเป็นอุดฮียะห์ที่สุนัต ก็อนุญาตให้รับประทานได้ตามแต่เขาต้องการ โดยจะต้องบริจาคส่วนที่เหลือทั้งหมด และยอมอนุญาตให้เขารับประทานได้หนึ่งในสามของอุดฮียะห์ และบริจาคหนึ่งในสามให้แก่คนยากจน และอีกหนึ่งในสามมอบเป็นของขวัญ (ฮะดียะห์) แก่เพื่อน ๆ และเพื่อนบ้านแม้จะเป็นคนรวยก็ตาม แต่สิ่งที่ให้คนรวยนั้นเป็นของขวัญมีจุดมุ่งหมายที่การรับประทานเท่านั้น ไม่ยินยอมให้พวกเขานำไปขายแลกเปลี่ยน ส่วนสิ่งที่ให้แก่คนอยากจนนั้นเป็นการให้ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ ซึ่งคนจนอาจใช้รับประทานหรือนำไปจับจ่ายตามความต้องการ

และยินยอมให้ผู้ทำอุดฮียะห์ บริจาคหนังสัตว์ของตนได้ หรือเอาไว้ใช้ประโยชน์เองก็ได้แต่ไม่ยินยอมให้ขายหนังสัตว์อุดฮียะห์หรือให้แก่ผู้เชือดสัตว์เป็นค่าจ้างในการเชือดของเขา เพราะการดังกล่าวนั้นเป็นการทำให้อุดฮียะห์ลดหย่อน ซึ่งทำให้อุดฮียะห์มีผลใช้ไม่ได้

สุนัตและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอุดฮียะห์ :

หนึ่ง : เมื่อเข้าสู่ช่วงสิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจยะห์ และมีผู้ที่ตั้งใจในช่วงเวลาดังกล่าวว่าจะทำอุดฮียะห์ สุนัตให้เขาปล่อยผมและเล็บไว้จนกว่าจะเชือดอุดฮียะห์

สอง : สุนัตให้เชือดอุดฮียะห์ด้วยตนเอง และถ้าหากมีอุปสรรไม่สามารถกระทำเองได้ ก็ให้มาดูการเชือดอุดฮียะห์ด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top