การจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลามแบบบูรณาการ
โดย ดร. วิศรุต เลาะวิถี
บทนำ
ลักษณะการจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลามที่ผ่านมาหรือในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในระดับฟัรดูอีน ตาดีกา ซานะวีย์ อะลีย์ หรือกุลลียะห์ เป็นวิธีการเรียนที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชามากกว่าการเรียนรู้จากสภาพที่เป็นจริง และไม่เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้พัฒนาการคิดวิเคราะห์ การแสดงความคิดเห็น การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังขาดการเชื่อมโยงให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมในสังคม ผลของการใช้หลักสูตรทุกระดับ ยังมีข้อจำกัดหลายประการ การสอนแยกออกเป็นวิชา ทำให้การเรียนรู้แยกกันเป็นส่วนๆ ไม่สัมพันธ์หรือไม่สอดคล้องกัน ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมน้อย ส่วนใหญ่มักจะเรียนในห้อง ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับความเป็นจริงนอกห้องเรียน
ในชีวิตของคนเราจะพบสิ่งต่างๆ มากมายหลายชนิด หลายประเภทในเวลาเดียวกันประสบการณ์ต่างๆ หรือปัญหาทั้งหลายจะเกี่ยวข้องกันหรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทุกคนจะใช้ทักษะหลายๆ อย่าง ในการเรียนรู้ประสบการณ์และการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดหรือลดน้อยลงไป
ความหมายของการบูรณาการ
ตามนัยนี้ มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของการสอนแบบบูรณาการไว้ว่า การสอนแบบบูรณาการ หมายถึง วิธีการสอนโดยนำสิ่งหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องมาผสมผสานกัน เพื่อให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้มีความชัดเจน และสอดคล้องกับสภาพชีวิตจริง โดยทั่วไปจะเน้นที่การบูรณาการเทคนิควิธีการสอนโดยใช้หลาย ๆ วิธีผสมผสานกัน และการบูรณาการเนื้อหาสาระวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้ความหมายไว้อีกมากมาย อาจสรุปได้ว่า การสอนแบบบูรณาการ หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้วิธีการสอนหลายวิธี จัดกิจกรรมต่างๆ ในการสอนเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงกัน ตลอดจนมีการฝึกทักษะต่าง ๆ ที่หลากหลาย
ความสำคัญของการสอนแบบบูรณาการ
การสอนศาสตร์สาระอิสลามแบบบูรณาการ จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาความสามารถทางสติปัญญาที่หลากหลาย (Multiple Intelligences) และตอบสนองต่อรูปแบบการเรียนรู้ (Learning Styles) ที่แตกต่างกันของผู้เรียนแต่ละคนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาในด้านสุนทรีย์และความดีงาม ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและความคิดที่ดี อีกทั้งผู้เรียนจะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิชา และสามารถนำความรู้จากการเรียนรู้ในส่วนหนึ่งไปช่วยทำให้การเรียนรู้ในส่วนอื่น ๆ ดีขึ้นด้วย
ความสำคัญของการบูรณาการอีกประการหนึ่งคือ การที่ผู้เรียนจะเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน เกิดความหมายและนำไปใช้ได้ก็ต่อเมื่อความรู้และความคิดย่อยๆประสานสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน จนสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นรอบตัว ซึ่งมีผลให้เกิดการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาจัดระบบระเบียบใหม่ให้เหมาะสมกับตน เป็นองค์รวมของความรู้ของตนเอง ดังนั้น ในการสอนต้องให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเชื่อมโยงความคิดขึ้นในเนื้อหาด้วยการใช้วิธีการหลากหลาย ซึ่งจะเป็นการบูรณาการทั้งด้านเนื้อหาสาระและวิธีการ รวมทั้งศาสตร์ทุกศาสตร์ไม่อาจแยกกันได้โดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของคนที่ต้องดำรงอยู่อย่างกลมกลืนเป็นองค์รวม การจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาต่างๆ และฝึกทักษะหลายๆ ทักษะอย่างเชื่อมโยงกัน จะทำให้การเรียนรู้สอดคล้องกับชีวิตจริงและมีความหมายต่อผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
จุดมุ่งหมายของการบูรณาการ
จุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลามแบบบูรณาการ มัดังนี้
- เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักว่า การเรียนรู้ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ การเรียนการสอนแบบบูรณาการจะมีความสัมพันธ์กับชีวิตของผู้เรียน และผู้เรียนจะเกิดแรงจูงใจในการเรียนมากกว่าแบบเดิม
- เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ซึ่งในการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขาวิชาในเวลาเดียวกัน
- เพื่อให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้โดยตรงอย่างมีจุดหมาย และมีความหมาย ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การแสดงความคิดเห็นในการจัดการเรียนการสอน และช่วยสร้างความเข้าใจให้ผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง
- เพื่อตอบสนองความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน โดยการเรียนรู้ตามเอกัตภาพ ออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามที่ต้องการจะรู้ บรรยากาศในชั้นเรียนจะไม่เครียด สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนานและบรรลุผลในการเรียนมากขึ้น
- มีการถ่ายโอนและค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาสาระ ความคิด ทักษะ และเจตคติ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความคิดรวบยอดที่เรียนได้อย่างลึกซึ้ง เป็นระบบ และถ่ายโอนความเข้าใจจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งได้ดี
- ส่งเสริมการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน ให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคง มีความพึงพอใจ มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะและยอมรับผู้อื่น เต็มใจทำงานร่วมกับกลุ่มและเป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่ม
- ช่วยพัฒนาค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม มาตรฐานการทำงาน วินัยในตนเอง ส่งเสริมความสามารในการทำงาน และการควบคุมอารมณ์ของผู้เรียน
- ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาการแสดงออกไปพร้อมๆ กับทางด้านความรู้ เนื้อหาสาระ อีกทั้งให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมในสังคม
การจัดการเรียนสอนแบบบูรณาการ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติของผู้เรียน ความรู้ ปัญหาและประสบการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้ได้ในชีวิตประจำวันอย่างสัมพันธ์กัน การบูรณาการจึงเป็นสิ่งที่ช่วยตอบสนองธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง
สาเหตุที่ต้องบูรณาการหลักสูตรและการเรียนการสอน
สาเหตุที่จะต้องบูรณาการหลักสูตรและการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลาม มีดังนี้
- วิถีชีวิตจริงของคนเรามีเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่ได้แยกออกจากกันเป็นเรื่อง ๆ
- ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นและเรียนรู้อย่างมีความหมาย เมื่อมีการบูรณาการเข้ากับชีวิตจริงโดยเรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้ตัวแล้วขยายกว้างไกลตัวออกไป
- การขยายตัวของความรู้ในปัจจุบัน ขยายไปอย่างรวดเร็วมาก มีเรื่องใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกสาระที่สำคัญและจำเป็นให้ผู้เรียนในเวลาที่เท่าเดิม
- ไม่มีหลักสูตรวิชาใดเพียงวิชาเดียวที่สำเร็จรูป และ สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้
- เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกัน หรือเกี่ยวข้องกัน ควรนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้ผู้เรียน เรียนรู้อย่างมีความหมาย ลดความซ้ำซ้อนเชิงเนื้อหาวิชา ลดเวลา แบ่งเบาภาระของครูผู้สอน
- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิด ความสามารถ และทักษะที่หลากหลาย
ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
การจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลามแบบบูรณาการ มีขั้นตอน ดังนี้
- กำหนดเรื่องที่จะสอน โดยการศึกษาหลักสูตรและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อนำมากำหนดเป็นเรื่องหรือปัญหาหรือความคิดรวบยอดในการสอน
- กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ โดยการศึกษาจุดประสงค์ของวิชาหลักและวิชารองที่จะนำมาบูรณาการ และกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ในการสอน สำหรับหัวเรื่องนั้นๆ เพื่อการวัดและประเมินผล
- กำหนดเนื้อหาย่อย เป็นการกำหนดเนื้อหาหรือหัวเรื่องย่อยๆ สำหรับการเรียนการสอนให้สนองจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้
- วางแผนการสอน เป็นการกำหนดรายละเอียดของการสอนตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ คือ สาระสำคัญ จุดประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล
- ปฏิบัติการสอน เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผลสำเร็จของการสอนตามจุดประสงค์ ฯลฯ โดยมีการบันทึกจุดเด่น จุดด้อยไว้สำหรับการปรับปรุง หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
- การประเมินปรับปรุงและพัฒนาการสอน เป็นการนำผลที่ได้บันทึก รวบรวมไว้ในขณะปฏิบัติการสอน มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแผนการสอนแบบบูรณาการการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ลักษณะของการบูรณาการ
การบูรณาการมีหลายลักษณะ หลายแนวความคิด แต่ละลักษณะเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการได้เป็นอย่างดี ในบางครั้งครูอาจบูรณาการหลายลักษณะเข้าด้วยกัน สุดแล้วแต่ความคิดของครูแต่ละคนและความเหมาะสมเป็นเรื่องๆ ไป สำหรับการบูรณาการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลาม มีดังนี้
- การบูรณาการเชิงเนื้อหาสาระ เป็นการบูรณาการเชิงเนื้อหาสาระ เป็นการผสมผสานเชื่อมโยงเนื้อหาสาระหรือองค์ความรู้ในลักษณะของการหลอมรวมกัน เนื้อหาสาระที่นำมารวมกันจะมีลักษณะคล้ายกัน สัมพันธ์กัน หรือต่อเนื่องกัน แล้วเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงการบูรณาการเนื้อหาสาระรายวิชาสามัญเข้ากับเนื้อหาสาระทางด้านวิชาชีพที่เกี่ยวข้องหรือที่ศึกษาد
- การบูรณาการเชิงวิธีการ เป็นการผสมผสานวิธีการสอนแบบต่างๆ เข้าในการสอน โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้วิธีสอนหลายๆ วิธี ใช้สื่อการเรียนการสอนแบบสื่อประสม ใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติอย่างสัมพันธ์กันให้มากที่สุด เช่น ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การละหมาดอีด ครูสามารถบูรณาการเชิงวิธีการด้วยการใช้เทคนิคหรือวิธีการต่างๆ ได้หลายวิธี ได้แก่ การสนทนา การอภิปราย การใช้คำถาม การบรรยาย การค้นคว้าและการทำงานกลุ่ม และการนำเสนอข้อมูล เป็นต้น
- การบูรณาการความรู้กับกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้ในอดีต ครูมักเป็นผู้บอกหรือให้ความรู้แก่ผู้เรียนโดยตรง ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับสิ่งที่ครูหยิบยื่นให้ แล้วแต่ความสามารถของผู้เรียนว่าใครจะตักตวงได้เท่าไร และจะเหลือเก็บไว้ได้เท่าไร แต่ในปัจจุบัน มีแนวความคิดเปลี่ยนไปจากการเน้นที่องค์ความรู้ มาเป็นเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาวิธีการแสวงหาความรู้และการได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ต้องการ และกระบวนการเรียนรู้จะเป็นสิ่งที่ตกตะกอนติดตัวผู้เรียนไว้ใช้ได้ตลอดไป เพราะสังคมสมัยใหม่ มีสิ่งที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้มากมาย มีปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ครูไม่สามารถตามไปสอนได้ทุกที่ หรือผู้เรียนไม่สามารถมาถามครูได้ทุกเรื่อง ผู้เรียนจึงจำเป็นที่ต้องแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยมีกระบวนการการเรียนรู้ที่มีขั้นตอนอยู่ในใจ แต่สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่อง การประกอบพิธีฮัจย์ ครูอาจแนะนำให้ผู้เรียนใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการสร้างความคิดรวบยอดการได้มาซึ่งความรู้ในเรื่องที่ต้องการ เป็นต้น
- การบูรณาการความรู้กับการปฏิบัติ ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับการปฏิบัติ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป อาจลืมความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้นั้นได้ แต่ถ้าความรู้นั้นเชื่อมโยงไปกับการปฏิบัติ จะทำให้ความรู้นั้นติดตัวไปได้ยาวนาน ไม่ลืมง่าย เช่น การเรียนรู้เรื่องการอาบน้ำละหมาด ซึ่งหากเป็นการสอนแค่ความรู้ขณะเรียน ผู้เรียนจะมีความรู้ความเข้าใจได้ แต่จะไม่คงทน เพราะอาจลืมในเวลาต่อมา แต่ถ้าครูสอนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติอาบน้ำละหมาดจริง จะทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นไม่ลืมง่าย
- การบูรณาการความรู้ในโรงเรียนกับชีวิตจริงของนักเรียน ในการจัดการเรียนการสอน ‘ความรู้’ เป็นสิ่งที่ผู้สอนทุกคนปรารถนาให้เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียน แต่ความรู้นั้น ไม่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความแปลกแยกกับชีวิตจริง เพราะจะทำให้ผู้เรียนไม่เห็นคุณค่า ไม่มีความหมาย และไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แก่ตัวผู้เรียน ดังนั้น สิ่งที่ครูสอนหรือให้ผู้เรียน เรียนรู้ในโรงเรียน ควรเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กับชีวิตของผู้เรียน และเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือผู้เรียนในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิต และคุณลักษณะของผู้เรียน จะทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและความหมายของสิ่งที่เรียน อีกทั้งเป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความต้องการในการเรียนรู้สิ่งอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การสอนเรื่องการละหมาดฟัรดู การละหมาดญะนาซะห์ การละหมาดญุมอัต ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ เมื่อเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ครูควรเชื่อมโยงให้ผู้เรียนนำไปใช้ในชีวิตของเขาด้วย
รูปแบบของการบูรณาการ (Model of Integration)
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่พบโดยทั่วไปมี 4 แบบ
1. การบูรณาการแบบสอดแทก (Infusion)
การเรียนรู้แบบนี้ ครูจะนำเนื้อหาของวิชาต่างๆ มาสอดแทรกในรายวิชาของตนเองเป็นการ วางแผนการสอนและทำการสอนโดยครูเพียงคนเดียว
ข้อดี
- ครูคนเดียวบริหารทั้งเนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนรู้และเวลาที่ใช้โดยสะดวก
- ไม่มีผลกระทบกับครูผู้อื่นและการจัดตารางสอน
ข้อจำกัด
- ครูคนเดียวอาจไม่มีความชำนาญในเนื้อหาวิชาบางเรื่อง
- เนื้อหาวิชาและกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดอาจซ้ำซ้อนกับของวิชาอื่น
- ผู้เรียนจะมีภาระงานมากเพราะทุกรายวิชาจะต้องมอบหมายงานให้
2. การบูรณาการแบบขนาน (Parallel)
การเรียนรู้แบบนี้ ครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปต่างคนต่างสอนวิชาของตนเอง แต่จะมาวางแผน ตัดสินใจร่วมกันว่า จะจัดแผนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยมุ่งสอนในหัวเรื่อง (Theme) ความคิดรวบยอด (Concept) และปัญหา (Problem) เดียวกันในส่วนหนึ่ง
ข้อดี
- ครูผู้สอนแต่ละคน ยังคงบริหารทั้งเนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนรู้เวลาโดยสะดวก
- ไม่มีผลกระทบกับครูผู้อื่นและการจัดตารางสอน
- เนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนลดการซ้ำซ้อนลง ช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกัน
ข้อจำกัด
- ครูยังคงต้องรับภาระเนื้อหาวิชาที่ไม่ชำนาญ
- ผู้เรียนยังมีภาระงานมาก เพราะทุกรายวิชาจะต้องมอบหมายงานให้
3. การบูรณาการแบบสหวิทยาการ (Multidiscipline)
การเรียนรู้แบบนี้ คล้ายกับแบบคู่ขนาน กล่าวคือ ครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ต่างคนต่างสอนวิชาของตน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเองเป็นส่วนใหญ่ มาวางแผนการสอนร่วมกันในการให้งานหรือโครงการที่มีหัวเรื่อง แนวคิดหรือความคิดรวบยอดและปัญหาเดียวกัน
ข้อดี
- สนับสนุนการทำงานร่วมกันของทั้งผู้สอนและผู้เรียน ลดความซ้ำซ้อนของกิจกรรม
- ผู้สอนทุกคนและผู้เรียนมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน
- ผู้เรียนเห็นความสำคัญของการนำความรู้ไปใช้กับชีวิตจริง
ข้อจำกัด
- มีผลกระทบต่อการจัดตารางสอนและการจัดแผนการเรีย
4. การบูรณาการแบบข้ามวิชา (Transdisciplinary)
การเรียนรู้แบบนี้ผู้สอนในรายวิชาต่างๆ จะมาร่วมกันสอนเป็นคณะ ร่วมกันวางแผน กำหนดหัวเรื่อง ความคิดรวบยอดและปัญหาเดียวกัน
ข้อดี
- สนับสนุนการทำงานร่วมกันของทั้งผู้สอนและผู้เรียน ลดความซ้ำซ้อนของกิจกรรม
- ผู้สอนทุกคนและผู้เรียนมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน
- ผู้เรียนเห็นความสำคัญของการนำความรู้ไปใช้กับชีวิตจริง
ข้อจำกัด
- มีผลกระทบต่อการจัดตารางสอน
- ผู้สอนต้องควบคุมการเรียนให้ทันตามกำหนด
รูปแบบการบูรณาการ
การสอนแบบบูรณาการ มีลักษณะและวิธีการที่แตกต่างกันไป และมีความเหมาะสมกับการสอนในรายวิชาและระดับชั้นที่ต่างกันไป แต่สำหรับการบูรณาการศาสตร์สาระอิสลาม มีวิธีการ บูรณาการหลัก ๆ ที่สำคัญอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ
- แบบเชื่อมโยง (Connected Model) เป็นการบูรณาการเนื้อหาสาระของ 2 กลุ่มวิชา โดยในการสอนมีการเชื่อมโยงหัวข้อหรือความคิดรวบยอดถึงกัน เชื่อมโยงความคิดต่างๆ ให้สัมพันธ์กัน เชื่อมโยงจากหัวข้อหนึ่งไปยังอีกหัวข้อหนึ่ง ทำให้เห็นความต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกันของเนื้อหาที่เรียนในหัวข้อต่างๆ เช่น สอนเรื่องอะกีดะห์ให้สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์อิสลาม แล้วเชื่อมโยงกับอัลหะดีษ เป็นต้น
- แบบคาบเกี่ยว (Shared Model) เป็นการบูรณาการระหว่างเนื้อหาสาระการเรียนรู้ 2 กลุ่มวิชา โดยเนื้อหาสาระที่สอนทั้ง 2 กลุ่มนั้น มีสาระความรู้ ทักษะ เจตคติ หรือความคิดรอบยอด ที่คาบเกี่ยวหรือเหลื่อมล้ำกันอยู่ส่วนหนึ่ง ในการบูรณาการรูปแบบนี้ ควรต้องมีการวางแผนร่วมกันระหว่างครูผู้สอน โดยเนื้อหาที่คล้ายกันก็นำมาบูรณาการร่วมกัน ในส่วนที่คาบเกี่ยวกัน อาจจัดสอนเป็นหัวข้อร่วมกัน หรือทำโครงงานร่วมกัน และอีกส่วนหนึ่งที่ไม่คาบเกี่ยวกันนั้น ครูแยกกันสอนตามปกติ สำหรับงานที่ทำร่วมกันนั้น ให้ครูประเมินร่วมกัน เป็นต้น
บทสรุป
จากสาระข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลามแบบ
บูรณาการทุกระดับ นั้น จะต้องเริ่มที่ตัวครูผู้สอนเป็นสำคัญ กล่าวคือ มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการสอนที่เป็นบูรณาการ (Integrative Teaching Styles) ซึ่งต้องมีวิธีการที่หลากหลายให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ใช้เทคนิคการเรียนการสอนที่ผสมผสานกัน ฝึกให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบด้วยวิธีการแก้ปัญหา (Problem Solving) เน้นการทำงานร่วมกัน มีงานกลุ่มหรืองานเดี่ยวผสมผสานกันไป โดยพิจารณาขอบเขตการเรียงลำดับเนื้อหาของลักษณะวิชารวม ทั้งลักษณะของผู้เรียน และให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง ด้วยแนวคิดเหล่านี้ เราต้องเริ่มตั้งแต่บัดนี้ อาจลองผิด ลองถูกในเบื้องต้น หลังจากนั้น ค่อย ๆ ปรับ และพัฒนาการสอนอย่างเป็นขั้นตอนตามลำดับ ย่อมเป็นความเชื่อมันได้ว่า การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาลักษณะนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลามได้เป็นอย่างดี
ที่มา : http://www.skthai.org/articles/42073689/การจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลามแบบบูรณาการ%20.html